วันที่ 3 มี.ค เป็นวันรณรงค์ให้มีการใส่ใจเรื่องการดูแลหู หรือ International Ear Care Day ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลกวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมากกว่า 1 พันล้านคน สูญเสียความสามารถในการได้ยินเนื่องจากฟังเพลงเสียงดังเกินไป WHO จึงพยายามกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ลดระดับความดังของเสียงเพลง เพื่อลดความเสียหายที่เกิดกับประสาทการรับเสียง
คุณ Shelley Chadha ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก อธิบายว่าการได้ยินเสียงที่ดังเกินไปเป็นเวลานานต่อเนื่อง เซลล์ประสาทรับการได้ยินจะถูกทำลายอย่างถาวร นำไปสู่การสูญเสียความสามารถทางการได้ยินอย่างที่ไม่รักษาได้
งานวิจัยหลายชิ้นในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้สูงแสดงให้เห็นว่า เกือบ 50% ของประชากรวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นอายุระหว่าง 12 -35 ปี ได้ยินเสียงดังในระดับที่เป็นอันตรายจากเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา เช่น MP3 หรือ Smartphone นอกจากนี้ราว 40% ของประชากรกลุ่มนี้ยังเปิดรับเสียงดังในระดับที่เป็นอันตรายจากคอนเสิร์ต ผับ บาร์ หรือสถานบันเทิงต่างๆ
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ระดับเสียงที่เป็นอันตรายนั้นสามารถจำแนกที่เป็นหลายอย่าง คืออาจหมายถึงการได้ยินเสียงระดับเกินกว่า 85 เดซิเบลเป็นเวลา 8 ชม.ต่อวัน หรือ 100 เดซิเบล เป็นเวลา 15 นาทีต่อวัน
ดร.Chadha กล่าวกับ VOA ว่าเมื่อระดับเสียงเพิ่มขึ้น 3 เดซิเบล หมายความว่าเวลาที่ปลอดภัยในการรับฟังนั้นจะลดลงครึ่งหนึ่ง
ดร.Chadha ระบุว่าหากใครสักคนได้ยินเสียงดังในรับ 100 เดซิเบลเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ชม. ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากการคมนาคมรอบข้างหรือเสียงจากเครื่องเล่นเพลง คนๆนั้นจะสูญเสียความสามารถในการได้ยินอย่างถาวรในเวลาเพียงไม่กี่ปี
ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกผู้นี้แนะนำวิธีง่ายๆในการป้องกันเสียงดังเกินไป นั่นคือการใส่ Ear Plug หรือเครื่องอุดหู เวลาอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เสียงดัง เช่นในคอนเสิร์ต ดร.Chadha บอกว่าแม้การใส่ ear plug จะดูไม่ทันสมัย ไม่ cool แต่หากพิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้แล้ว จะพบว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย
องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ปรับระดับเสียงลดลงทุกครั้งที่ฟังเพลงจากอุปกรณ์พกพา และจำกัดเวลาการฟังไม่เกิน 1 ชม.ต่อวัน นอกจากนี้ยังมีแอพในสมาร์ทโฟนที่ช่วยตรวจสอบว่าเสียงที่ฟังอยู่นั้นดัวเกินไปหรือไม่อีกด้วย
รายงานจากผู้สื่อข่าว Lisa Schlein / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล