วารสารการแพทย์ Lancet Global Health ได้ตีพิมพ์การจัดอันดับอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่สุดในโลก ซึ่งมาจากทีมวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน Bill & Melinda Gates Foundation และ Medical Research Council ลงพื้นที่สำรวจคุณภาพของโภชนาการใน 187 ประเทศทั่วโลก ระหว่างปี ค.ศ. 1990-2010
การสำรวจนี้พบว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุดในโลก ได้แก่
1. อาหารแถบเมดิเตอร์เรเนียน ที่เน้นปลาและสัตว์ปีก อุดมไปด้วยผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี หรือ Whole grains ถั่ว และน้ำมันมะกอก ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงการปรุงด้วยน้ำตาลและเกลือในระดับสูง
2. อาหารนิวนอร์ดิก หรือ 5 ประเทศในภูมิภาคยุโรปเหนือ ได้แก่ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ที่ดัดแปลงจากเมดิเตอร์เรเนียน เช่น กลุ่มธัญพืช จะเน้นข้าวโอ๊ตและแป้งไรย์ กลุ่มผักจะเน้น กะหล่ำดาว หรือ Brussel Sprouts บีทรูท ไข่ อาหารทะเล นมและชีสไขมันต่ำ นอกจากนี้ อาหารแถบนิวนอร์ดิก จะใช้น้ำมัน rapeseed หรือน้ำมันคาโนลาในการปรุง และใช้อุณหภูมิต่ำในการปรุงอาหาร เช่น การอบหรือต้ม
3. อาหารญี่ปุ่น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยกย่องให้ชาวญี่ปุ่นเป็นพลเมืองที่มีอายุยืนที่สุดในโลก ด้วยอายุขัยเฉลี่ย 87 ปีสำหรับผู้หญิง และ 80 ปีสำหรับผู้ชาย ซึ่งอาหารที่เขาเลือกรับประทานจะมีแคลอรีต่ำ แต่คุณค่าทางอาหารสูง เช่น สาหร่าย เต้าหู้ ซุปมิโสะ ข้าว ผัก และปลา
ยิ่งไปกว่านั้น วิถีการบริโภคของชาวโอกินาว่า จะหยุดรับประทานอาหาร เมื่อรู้สึกว่าท้องใกล้อิ่ม ประมาณร้อยละ 80
4. อาหารฝรั่งเศส ถือเป็นอาหารที่มาแปลกกว่าใครเพื่อน เพราะอาหารฝรั่งเศสนั้นอุดมไปด้วยไขมัน แต่ชาวฝรั่งเศสกลับไม่อ้วนและอายุยืน ซึ่งทีมวิจัยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า French Paradox ด้วยหลักการง่ายๆคือ บริโภคแต่น้อย เพราะจะเห็นว่าอาหารฝรั่งเศสมักจะมาในขนาดที่ไม่ใหญ่ หากเทียบกับอาหารอเมริกัน ที่สำคัญ ชาวฝรั่งเศสไม่บริโภคขนมขบเคี้ยวเป็นมื้ออาหารย่อยๆ
อาหารทั้ง 4 สไตล์นั้นกระจัดกระจายบนแผนที่โลกก็จริง แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ กลุ่มประเทศเหล่านี้เน้นบริโภคอาหารท้องถิ่น ที่มีตามฤดูกาล และบริโภคอาหารแปรรูปในปริมาณจำกัด กล่าวคือ พวกเขารับประทานผักและอาหารทะเลในปริมาณมาก ขณะที่บริโภคเนื้อแดง หรือกลุ่มเนื้อหมูเนื้อวัวในปริมาณน้อย
ย้อนกลับมาดูชาวอเมริกันบ้าง การศึกษาเมื่อปีก่อน จากมหาวิทยาลัย Turfts แห่งรัฐแมตซาชูเสตส์ พบว่า ชาวอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจากกลุ่มโรคคาร์ดิโอเมตาบอลิก ได้แก่ โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก และเบาหวานที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ อาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาล เกลือ และอาหารแปรรูป อย่างเบคอนและไส้กรอก ขณะที่บริโภคผักผลไม้ อาหารทะเล ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วต่ำกว่าระดับที่นักโภชนาการแนะนำ
ด้านโนเอล มูลเลอร์ นักวิจัยด้านสุขภาพจากมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ แห่งรัฐแมรีแลนด์ ลงรายละเอียดว่า อาหารมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลโรคในกลุ่มคาร์ดิโอเมตาบอลิก โดยเฉพาะการลดบริโภคเกลือและโซเดียม ที่พบในอาหารแปรรูปถึงร้อยละ 80 ของอาหารอเมริกัน
ทีมวิจัยยังทิ้งท้ายไว้ว่า นอกจากการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพแล้ว สิ่งที่กลุ่มประเทศที่มีโภชนาการดีที่สุดในโลกมี ก็คือ ผู้คนในประเทศมักจะเดินกันเป็นกิจวัตรประจำวัน นั่นจึงเป็นข้อสรุปได้ว่า หนทางสู่สุขภาพที่ดีเริ่มต้นที่การกินอย่างมีประโยชน์ กินอย่างถูกต้องพอประมาณ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ