มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดอันดับที่สามของโลก เเละหากตรวจพบเร็วเท่าใด ผู้ป่วยก็มีโอกาสสูงมากขึ้นเท่านั้นที่จะหายจากโรค
เเต่แพทย์ที่ทำการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่มักไม่สามารถมองเห็นทุกอย่างที่แสดงบนหน้าจอได้เสมอไป และรายละเอียดอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กอาจตรวจไม่พบ
ลอเรนซ์ เลิฟวัท ผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัย UCL กล่าวว่า การตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่อาจตรวจไม่พบติ่งเมือกหนึ่งในห้าในระหว่างการตรวจ เเละนี่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะมะเร็งชนิดนี้เป็นสาเหตุใหญ่อันดับที่สองที่ทำให้คนเสียชีวิตในอังกฤษ
ทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์สามารถมองเห็นภาพถ่ายได้ทั้งหมด เพราะไม่มีทางมองผิดจุดเเละไม่มีทางเสียสมาธิ
ปีเตอร์ เมาท์นี่ ซีอีโอของ Odin Vision กล่าวว่า เมื่อได้ภาพวิดีโอสดภายในลำไส้ใหญ่ ระบบที่ใช้จะนำภาพวิดีโอที่ได้ไปวิเคราะห์ทีละภาพเเละประมวลข้อมูลด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เเละตนเองพยายามระบุว่าติ่งที่เห็นอยู่ในจุดใดของลำไส้ใหญ่โดยมองที่ลักษณะของเนื้อเยื่อที่มีสีเเตกต่างกันไป
ข้อมูลที่ได้นี้มีขนาดใหญ่เเละมีรายละเอียดมากเกินไปที่จะส่งผ่านทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้น ระบบ Odin Vision จะใช้การสื่อสารระหว่างโลกเเละดาวเทียมที่ห่างออกไปหลายล้านไมล์แทน โดยจัดเก็บเอาไว้ในฐานข้อมูล cloud เเละส่งข้อมูลกลับมาที่แพทย์ในขณะที่กำลังทำการตรวจทันที
การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในระยะเเรกเริ่มในขณะนี้ หากเทคโนโลยีประสบความสำเร็จ ระบบจัดเก็บข้อมูลใน cloud นี้จะเข้าถึงได้โดยคลินิกเเละโรงพยาบาลต่างๆ เเม้ในเขตชนบทห่างไกล เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้ผลการวินิจฉัยที่รวดเร็วเเละเเม่นยำ
แดน สโตยานอฟ ผู้เชี่ยวชาญแห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย UCL กล่าวว่า AI มีบทบาทช่วยให้ทีมงานสามารถพัฒนาบริการที่มีคุณภาพ เพื่อรับประกันว่าผู้ป่วยได้รับการบริการตรวจวินิจฉัยโรคที่ดีที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังพัฒนาระบบ Odin Vision หวังว่าเทคโนโลยีใหม่ที่ก้าวหน้านี้จะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยหลายพันราย เเละช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการบำบัดด้วยการฉายรังสี ผู้ป่วยที่หายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่างหวังว่า เทคโนโลยีตรวจวินิจฉัยโรคใหม่นี้จะพร้อมออกมาให้ใช้งานกันในอนาคตอันใกล้
บริษัท Odin Vision กำลังวางแผนที่จะศึกษาทดลองในคนเป็นโครงการนำร่องในอีก 12 เดือนข้างหน้า เเละคาดว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะพร้อมออกมาให้ใช้งานกันในอีกสองปีข้างหน้า
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)