อนุภาคนาโนพิเศษเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนกับเรือขนาดจิ๋วที่บรรทุกสีย้อมชนิดพิเศษไปยังเซลล์มะเร็งภายในร่างกายของคนไข้ ยาสีย้อมพิเศษนี้มีฤทธิ์กำจัดเซลล์มะเร็งได้ และยังช่วยให้แพทย์ผ่าตัดมองเห็นเซลล์มะเร็งได้ง่ายขึ้น เเละช่วยให้สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมด
แคนนัน ชูมัน (Canan Schumann) แห่งภาควิชาเภสัชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน กล่าวว่า การใช้อนุภาคนาโนพิเศษในการนำสีย้อมไปสู่เซลล์มะเร็ง ช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งและตรวจดูการแพร่ระบาดของมะเร็ง ตลอดจนช่วยในการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกให้หมด
ยาสีย้อมที่มีฤทธิ์เป็นยากำจัดเซลล์มะเร็งนี้คิดค้นเเละพัฒนาโดย โอเลห์กับ โอเลนา ทาราทูลา (Oleh and Olena Taratula) นักวิทยาศาสตร์สามีภรรยาที่ย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯ จากประเทศยูเครน นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองใช้เวลานานถึง 4 ปีในการค้นหาส่วนประกอบทางสารเคมีที่เหมาะสมที่สุด
โอเลนา ทาราทูลา นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน กล่าวว่ าสีย้อมนี้ผสมอยู่ในตัวทำละลายอินทรีย์และสารโพลิเมอร์ผสมอยู่ในน้ำ เมื่อผสมเข้าด้วยกันให้กลายเป็นส่วนผสมออแกนิก ก็จะได้ตัวอนุภาคนาโนเหล่านี้ออกมา และเมื่อยาสีย้อมอนุภาคนาโนนี้เจอกับเเสง ก็จะสามารถค้นหาเซลล์มะเร็งเเละจะผลิตความร้อนออกมาเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งชนิดที่ไม่เป็นอันตราย
ยาสีย้อมอนุภาคนาโนนี้ประสบความสำเร็จในการทดสอบกับหนูเเละกระต่ายในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยที่ตั้งชื่อว่า ทาราทูลา ตามนามสกุลของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง
ในขั้นต่อไปจะเป็นการทดลองกับคน ทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าสำคัญมากที่ต้องกำจัดเซลล์มะเร็งร้ายจากร่างกายผู้ป่วยให้หมด เพราะหากมะเร็งหวนคืน โรคจะมีความร้ายเเรงมากขึ้นและอันตรายมากขึ้น
นักวิจัยชูมัน แห่งภาควิชาเภสัชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน กล่าวว่า เซลล์มะเร็งที่ตกค้างในร่างกายผู้ป่วยจะเป็นต้นเหตุให้มะเร็งหวนคืนในเวลาต่อมา และนอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงมากที่เซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลือในร่างกายผู้ป่วยจะดื้อต่อเคมีบำบัด
ทีมนักวิจัยจำเป็นต้องใช้เซลล์มะเร็งจำนวนมากในการทดลอง เเละเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ที่ใช้ ทีมนักวิจัยได้เพาะเลี้ยงขึ้นเองในห้องทดลองของมหาวิทยาลัย
บรรดาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ยาสีย้อมอนุภาคนาโนชนิดใหม่นี้มีศักยภาพสูงมาก เพราะช่วยให้แพทย์มองเห็นความแตกต่างระหว่างเซลล์มะเร็งที่ไม่เป็นอันตราย กับเซลล์มะเร็งที่เป็นอันตรายได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บำบัดมะเร็งได้ถูกจุดมากขึ้นอย่่างมาก
อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการทดลองกับคนเสียก่อน แต่ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนหวังว่ายาสีย้อมอนุภาคนาโนนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จครั้งสำคัญในวงการบำบัดมะเร็งในอนาคต
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)