ลิ้งค์เชื่อมต่อ

 
ตรวจสอบข่าว: จริงหรือไม่ รัฐบาลทรัมป์ 2.0 เปลี่ยนนโยบายสหรัฐฯ เกี่ยวกับไต้หวันแล้ว

ตรวจสอบข่าว: จริงหรือไม่ รัฐบาลทรัมป์ 2.0 เปลี่ยนนโยบายสหรัฐฯ เกี่ยวกับไต้หวันแล้ว


Graphics of RFA's Asia Fact Check Lab
Graphics of RFA's Asia Fact Check Lab

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำทำเนียบขาวสมัยที่ 2 มีการกล่าวอ้างออกมาหลายครั้งในโลกออนไลน์ว่า สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับไต้หวันไปแล้ว

เมื่อพิจารณาดูบทบาทของไต้หวันในกรณีความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ด้านนโยบายกรุงวอชิงตันอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน สร้างอิทธิพลต่อความคิดของประชาชน และยกระดับความตึงเครียดในภูมิภาคขึ้นได้ ขณะที่ การตีความผิด ๆ หรือการจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่าง ๆ ก็อาจเปลี่ยนทิศทางการหยิบยกเรื่องที่เกี่ยวข้องมาคุยในระดับสากล ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ข่าวลือแบบนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก

จีนนั้นมองไต้หวันว่าเป็นมณฑลที่แยกตัวออกไปและต้องมีการดึงกลับมารวมชาติ ส่วนสหรัฐฯ นั้นรับรองคำกล่าวอ้างของจีน แต่ก็ให้การสนับสนุนทางทหารต่อไต้หวันโดยไม่ได้มีการยอมรับไต้หวันในฐานะรัฐที่มีอธิปไตยของตนเอง

ฝ่าย Asia Fact Check Lab (AFCL) ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ถอดข้อมูลไต้หวันออกจากเว็บไซต์แล้วหรือ?

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจีนบางรายอ้างว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ถอดข้อมูลเกี่ยวกับไต้หวันออกจากเว็บไซต์ของตนไปแล้ว โดยถ่ายภาพหน้าเว็บมาเป็นหลักฐานด้วย ขณะที่ บางคนบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจของปธน.ทรัมป์ ที่จะ “ทอดทิ้ง” ไต้หวัน

ภาพของโพสต์โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ภาษาจีนและกล่าวอ้างว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ลบข้อมูลเกี่ยวกับไต้หวันออกจากเว็บทางการไปแล้ว
ภาพของโพสต์โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ภาษาจีนและกล่าวอ้างว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ลบข้อมูลเกี่ยวกับไต้หวันออกจากเว็บทางการไปแล้ว

แต่เรื่องนี้เป็นความเท็จ เพราะการตรวจสอบจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า หน้าเพจของไต้หวันบนเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่

นอกจากนั้น การตรวจสอบเพจที่มีการเก็บเข้าแฟ้มไว้แสดงให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนข้อมูลล่าสุดบนเพจของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน

การตรวจสอบเว็บเพจของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เกี่ยวกับไต้หวัน โดย AFCL
การตรวจสอบเว็บเพจของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เกี่ยวกับไต้หวัน โดย AFCL

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สนับสนุนจีนให้ผนวกไต้หวันเข้ากับตนจริงหรือ?

ผู้ใช้งานแอปเว่ยโป๋ (Weibo) คนหนึ่งกล่าวอ้างว่า เวลานี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สนับสนุนให้จีนผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนแล้ว และมีการโพสต์คลิปวิดีโอประกอบเป็นหลักฐานยืนยันว่า กระทรวงกลาโหม “จู่ ๆ ก็ปรับเปลี่ยนจุดยืน” เมื่อวันที่ 30 มกราคม

ภาพของโพสต์โดยผู้ใช้แอปเว่ยโป๋ของจีน ที่อ้างว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หนุนให้จีนผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับตน
ภาพของโพสต์โดยผู้ใช้แอปเว่ยโป๋ของจีน ที่อ้างว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หนุนให้จีนผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับตน

อย่างไรก็ตาม ฝ่าย AFCL ตรวจสอบแล้วไม่พบหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้

นอกจากนั้น การค้นหาข้อมูลด้วยการใช้คีย์เวิร์ด (keyword) ก็ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือใด ๆ หรือแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับประเด็นนี้

ฝ่าย AFCL พบด้วยว่า ในการขึ้นตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเพื่อรับรองการเสนอชื่อเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ในการโต้ตอบภัยคุกคามไต้หวันจากจีน ด้วยการกล่าวย้ำการดำเนินตามพันธกรณีที่สหรัฐฯ มีต่อไต้หวันมาตลอด และไม่ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนให้จีนผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเลย

รัฐบาลทรัมป์ตัดสินใจยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ ๆ หนึ่งแล้วหรือ?

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่พูดภาษาจีนบางรายโพสต์ข้อความว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติของสหรัฐฯ (USCIS) เพิ่มชื่อ “ไต้หวัน” เป็นหนึ่งในตัวเลือกของสัญชาติ และนี่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนของนโยบายรัฐบาลทรัมป์ในการยอมรับไต้หวันว่าเป็นประเทศ ๆ หนึ่ง

ภาพของโพสต์โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใช้ภาษาจีนซึ่งระบุว่า หน่วยงาน USCIS ของสหรัฐฯ เพิ่มตัวเลือกสัญชาติ "ไต้หวัน" อันสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาลปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ
ภาพของโพสต์โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใช้ภาษาจีนซึ่งระบุว่า หน่วยงาน USCIS ของสหรัฐฯ เพิ่มตัวเลือกสัญชาติ "ไต้หวัน" อันสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาลปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ

แต่คำกล่าวอ้างนี้ทำให้สังคมเข้าใจผิด

การตรวจสอบเว็บไซต์ของ USCIS พบว่า คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการมีตัวเลือกสัญชาติ “ไต้หวัน” ในแบบฟอร์มของหน่วยงานนี้เป็นเรื่องจริง อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ไม่ได้เริ่มขึ้นในรัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2

ทีมงานใช้ระบบ Wayback Machine ค้นหาข้อมูลและพบว่า มีการเริ่มใช้กฎนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2019 และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ เกิดขึ้นหลังอดีตปธน.ไบเดน เข้าบริหารประเทศในปี 2020

ขณะเดียวกัน เมื่อมองดูภาพกว้าง จะพบว่า ไต้หวันไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะประเทศ โดยมีไม่กี่ประเทศในโลกที่รักษาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับกรุงไทเป ขณะที่ ประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ เลือกดำเนินตามนโยบายจีนเดียวและยอมรับรัฐบาลกรุงปักกิ่งในฐานะรัฐบาลที่แท้จริงของจีน แต่ก็มีปฏิสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวันมาตลอด

ในกรณีของไต้หวันนั้น สหรัฐฯ มีกฎหมายที่ชื่อ Taiwan Relations Act ที่มีเนื้อหาระบุว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันต้องจัดหาวิธีการและหนทางเพื่อใช้ในการป้องกันตนเอง แต่ก็มีการดำเนินนโยบาย “ความคลุมเครือด้านยุทธศาสตร์” ที่ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องไต้หวันในกรณีถูกจีนรุกรานหรือไม่

ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวันก็เกิดขึ้นผ่านสถาบันอเมริกันในไต้หวัน หรือ AIT (American Institute in Taiwan) ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับสถานทูตของสหรัฐฯ และทำหน้าที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลไทเปในการต้านแรงกดดันจากจีน พร้อม ๆ กับสร้างสมดุลระหว่างการป้องปรามและการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคนั้น

ทั้งนี้ ไต้หวันไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและองค์กรใหญ่ ๆ ระดับโลก เนื่องจากจีนยืนกรานมาตลอดว่า ไม่ให้ยอมรับไต้หวันในฐานะเป็นประเทศ แต่มีการบริหารงานเหมือนประเทศอิสระประเทศหนึ่งภายใต้รัฐบาลและกองทัพ เพื่อดูแลเศรษฐกิจของตนเอง

  • ที่มา: ฝ่าย Asia Fact Check Lab ของ เรดิโอ ฟรี เอเชีย

กระดานความเห็น

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG