ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กลุ่มฮามาสเผย พร้อมวางอาวุธหากจัดตั้งสถานภาพสองรัฐสำเร็จ


คาลิล อัล-เฮย์ยา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มฮามาส ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับเอพี ที่นครอิสตันบูล เมื่อ 24 เม.ย. 2567 (AP)
คาลิล อัล-เฮย์ยา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มฮามาส ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับเอพี ที่นครอิสตันบูล เมื่อ 24 เม.ย. 2567 (AP)

ผู้นำระดับสูงของกลุ่มฮามาสบอกกับผู้สื่อข่าวเอพีว่า กลุ่มติดอาวุธนี้จะยินดีสงบศึกกับอิสราเอลเป็นเวลา 5 ปีหรือนานกว่านั้น และจะวางอาวุธพร้อมกับเปลี่ยนตัวเองให้กลายมาเป็นพรรคการเมือง หากมีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระในพื้นที่ก่อนที่จะมีการขีดแนวชายแดนในปี 1967 สำเร็จ

คาลิล อัล-เฮย์ยา ผู้นำระดับสูงของฮามาส ให้สัมภาษณ์พิเศษพร้อมระบุจุดยืนดังกล่าวกับเอพีในวันพุธ ขณะที่ ความพยายามให้เกิดการหยุดยิงในกาซ่ายังคงไม่คืบหน้า แม้จะมีการหารือมานานหลายเดือนแล้ว โดยการพูดถึงการปลดอาวุธตนเองนั้นถือเป็นท่าทียินยอมที่มีนัยสำคัญมากจากกลุ่มติดอาวุธที่เคยประกาศคำมั่นว่าจะทำลายล้างอิสราเอลให้ได้

แต่แม้ฮามาสจะแสดงท่าทีใหม่นี้ออกมา อิสราเอลก็ไม่น่าจะยอมรับได้เลย โดยเฉพาะเมื่อเทลอาวีฟก็ประกาศความมุ่งมั่นที่จะทำลายกลุ่มติดอาวุธนี้ที่ทำการโจมตีเข้าใส่ตนอย่างรุนแรงเมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นต้นตอของการทำสงครามกาซ่า ขณะที่ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ยืนยันคัดค้านการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์บนผืนดินที่อิสราเอลยึดครองมาได้ในสงคราม 6 วันในปี 1967

อัล-เฮย์ยา ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มติดอาวุธนี้ในการเจรจาการหยุดยิงและการแลกเปลี่ยนตัวประกัน รวมทั้งแสดงท่าทีที่ท้าทายต่อต้านและประนีประนอมในบางครั้ง ระบุในการให้สัมภาษณ์ที่นครอิสตันบูล ว่า ฮามาสต้องการจะเข้าร่วมกับกลุ่ม Palestine Liberation Organization ซึ่งเป็นกลุ่มฟาตาห์คู่แข่ง เพื่อจะได้จัดตั้งรัฐบาลที่มีความเป็นปึกแผ่นของกาซ่าและเวสต์แบงก์

คาลิล อัล-เฮย์ยา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มฮามาส ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับเอพี ที่นครอิสตันบูล เมื่อ 24 เม.ย. 2567 (AP)
คาลิล อัล-เฮย์ยา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มฮามาส ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับเอพี ที่นครอิสตันบูล เมื่อ 24 เม.ย. 2567 (AP)

ผู้นำระดับสูงของฮามาสผู้นี้กล่าวด้วยว่า ฮามาสจะยอมรับ “รัฐปาเลสไตน์ที่มีอธิปไตยสมบูรณ์ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่า และการกลับคืนมาของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ตามมติสากลทั้งหลาย” และหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้น ก็จะมีการยุบฝ่ายการทหารของกลุ่มนี้ลง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฮามาสรักษาจุดยืนของตนในประเด็นการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์เคียงข้างอิสราเอลให้อยู่ในจุดที่ไม่สนับสนุนหรือคัดค้านมากนักมาโดยตลอด แต่ฝ่ายการเมืองของกลุ่มก็ยังคง “ปฏิเสธตัวเลือกอื่นใด นอกจากการประกาศอิสรภาพของปาเลสไตน์อย่างเต็มรูปแบบ จากฝั่งแม่น้ำถึงฝั่งทะเล” อย่างเป็นทางการ โดยพื้นที่ที่เพิ่งพูดถึงนั้น หมายถึงแผ่นดินที่ทอดยาวตั้งแต่แม่น้ำจอร์แดนจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งรวมความถึงผืนแผ่นดินของอิสราเอลในปัจจุบันด้วย

อย่างไรก็ดี อัล-เฮย์ยา ไม่ได้ระบุว่า การที่ตนยอมรับสถานภาพสองรัฐ (two state solution) จะนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล หรือหมายถึง ก้าวพักยกให้นำไปสู่เป้าหมายของกลุ่มในการทำลายอิสราเอลอยู่ดี

ทั้งนี้ ยังไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้จากทั้งอิสราเอลและ Palestine Authority ซึ่งเป็นหน่วยบริหารราชการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลให้ชาวปาเลสไตน์ก่อนกลุ่มฮามาสจะขับกลุ่มนี้ออกไปจากกาซ่าในปี 2007 จนเหลือเพียงหน้าที่บริหารพื้นที่เขตเวสต์แบงก์ที่ควบคุมโดยอิสราเอลเท่านั้น

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG