ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เปิดกรุ 'คลังของขวัญแห่งสยาม' ที่สมิธโซเนียน


Curator, Dr. Paul Michael Taylor (Left) and Ethnomusicologist, Tyler A Kramlich (Right)opening the cabinet with the Thai Khon mask collection
Curator, Dr. Paul Michael Taylor (Left) and Ethnomusicologist, Tyler A Kramlich (Right)opening the cabinet with the Thai Khon mask collection

สถาบันสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน เป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนการจัดแสดงนิทรรศการ 'ของขวัญแห่งมิตรภาพ' ในโอกาสฉลองวาระครบ 2 ศตวรรษความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมีของขวัญแห่งกรุงสยามที่องค์กรด้านพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกแห่งนี้เก็บรักษาไว้หลายพันชิ้น และยังไม่เคยเปิดให้ชมมาก่อน​


พอล ไมเคิล เทย์เลอร์ (Paul Michael Taylor) ภัณฑารักษ์และผู้อำนวยการแผนกมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เอเชีย แห่งสถาบันสมิธโซเนียน กล่าวถึงสิ่งของสะสมหลายพันชิ้นจากประเทศไทยที่ได้รับการเก็บรักษาอย่างดีร่วมกับสิ่งของจัดแสดงจากทั่วโลกที่เก็บไว้ภายในอาคารศูนย์ปฏิบัติการและเก็บรักษา สถาบันสมิธโซเนียน หรือ Smithsonian Museum Support Center ที่เชต Suitland ในรัฐแมรีแลนด์ชานกรุงวอชิงตัน

Director of the Smithsonian's A.C.H.P.,Dr. Paul Michael Taylor carries a Thai Khon mask 'Thotsakan' at the Smithsonian Museum Support Center, Suitland, MD. June 28, 2018.
Director of the Smithsonian's A.C.H.P.,Dr. Paul Michael Taylor carries a Thai Khon mask 'Thotsakan' at the Smithsonian Museum Support Center, Suitland, MD. June 28, 2018.

'หากพูดถึงสิ่งของสะสมจากเมืองไทย ทุกคนจะนึกถึงสิ่งของสำคัญที่อยู่ในการดูแลในฐานะภัณฑรักษ์ นั่นคือของขวัญพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยที่มีอยู่รวมกันประมาณ 2,000 ชิ้น ขณะที่มีราวๆ 1,600 ชุด ที่มีหมายเลขลงทะเบียนกำกับไว้ ซึ่งของขวัญในแต่ละชุดก็มักจะมีสิ่งของล้ำค่ามากกว่า 1 ชื้นรวมกัน

ดร.พอล เทย์เลอร์ เป็นชาวอเมริกันไม่กี่คน ที่คุ้นเคยและรู้จักกับศิลปะวัตถุและสิ่งของสะสมจากเมืองไทย หรือ ไทย คอลเลคชั่น ในฐานะผู้ดูแลสิ่งของล้ำค่าจากแดนสยามมานานหลายสิบปี

ภัณฑารักษ์จากสถาบันสมิธโซเนียน บอกว่า หนึ่งในของขวัญพระราชทานที่เก็บรักษาไว้อย่างดี คือ ชุดหัวโขน ตัวละครในมหากาพย์รามเกียรติ์ ที่มีรวมกันทั้งหมด 9 ชิ้น จากทั้งหมด 71 ชื้นรับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งส่งไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศการนานาชาติ หรือ เวิร์ลแฟร์ ที่จัดเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีของสหรัฐอเมริกา ที่นครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนียเมื่อปี พ.ศ. 2419 (ค.ศ.1876) หรือ ราว 140 ปีก่อน

Interior view of the Siamese Pavilion, Philadelphia Centennial Exposition (1876).
Interior view of the Siamese Pavilion, Philadelphia Centennial Exposition (1876).

​ผู้อำนวยการแผนกมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เอเชีย แห่งสถาบันสมิธโซเนียน บอกว่า ปกติหัวโขนที่เมืองไทยมักจะใช้ในการแสดงอยู่เป็นประจำ และผ่านการซ่อมแซมจากการชำรุดครั้งแล้วครั้งเล่าจนทำให้ลักษณะดั้งเดิมสูญหายไปแต่หัวโขนชุดนี้ได้รับการจัดไว้อย่างดี เพราะเป็นของขวัญพระราขทานทางการทูตที่ไม่เคยผ่านการแสดงที่ไหนมาก่อน ทำให้เกือบทุกชิ้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ราวกับเก็บไว้ในห้องกาลเวลา ที่สามารถรักษามรดกงานฝีมือของช่างไทยสมัยเมื่อกว่าศตวรรษก่อนเอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ

เปิดกรุคลังของขวัญแห่งสยาม ที่สมิธโซเนียน
please wait

No media source currently available

0:00 0:06:52 0:00

สิ่งของพระราชทานจากราชอาณาจักรสยาม ส่งเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นหลายครั้งในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 19 มีมากมายหลายพันชิ้นขณะที่ในปัจจุบันสิ่งของที่เป็นของขวัญระหว่างประเทศจากเมืองไทยส่วนใหญ่จะถูกส่งให้มาเก็บรักษาไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียนแห่งนี้

สิ่งของหลายชื้นแสดงถึงฝีมืออันวิจิตรบรรจงของช่างศิลป์แห่งกรุงสยามผ่านศิลปะวัตถุทรงคุณค่า เช่น เครื่องถมเงินถมทอง พระราชทานจากรัชกาลที่ 4เครื่องดนตรีพระราชทานจากรัชกาลที่ 5ขณะเดียวกันก็มีสิ่งของประเภทเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สะท้อนวิถีชีวิตผู้คนพื้นบ้านจากราชอาณาจักรสยามในศตวรรษก่อนจำนวนมากเช่นกัน

'Niello Betel set', a Gift of Phra Pin Klao (King Rama IV) from the 19th century (1856) in the Thai collection at the Smithsonian.
'Niello Betel set', a Gift of Phra Pin Klao (King Rama IV) from the 19th century (1856) in the Thai collection at the Smithsonian.

ผู้อำนวยการแผนกมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เอเชีย แห่งสถาบันสมิธโซเนียน บอกว่า วัสดุที่ทำจากธรรมชาติ เช่นอุปกรณ์พื้นบ้าน และเครื่องด้านเกษตรกรรม ที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดเพื่อจะรักษาและคงสภาพเดิมไว้ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์ คือปล่อยให้สิ่งอยู่คงเดิมโดยไม่ต้องไปสัมผัสหรือ หลีกเลี่ยงวัสดุที่ไม่มีสภาพความเป็นกรดที่จะส่งผลต่อพื้นผิวของไม้ รวมทั้งเก็บไว้ในสถานที่จำกัดอุณหถูมิและแสงที่ต้องมืดตลอดเวลา

เงื่อนไขของการอนุรักษ์ วัตถุโบราณล้ำค่า ไม่ใช่เพียงการเก็บรักษาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงงานด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้วย

'องค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยของเราที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปในทุกขณะ แต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการจัดนิทรรศการ เพราะสิ่งของที่ส่งไปจัดแสดงหากเสร็จสิ้นแล้วก็จะส่งกลับมาเหมือนเดิม แต่เป็นเพราะการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของแต่ละชิ้นที่เราเก็บรักษาไว้มากกว่า และเรายังต้องการทำวิจัยค้นคว้ามากขึ้นเรื่อยๆ'

Curators, Dr. Paul Michael Taylor and Dr.Robert Pontsioen studying the Thai collection at the Smithsonian's Museum Support Center.Suitland, MD.
Curators, Dr. Paul Michael Taylor and Dr.Robert Pontsioen studying the Thai collection at the Smithsonian's Museum Support Center.Suitland, MD.

'ตัวผมเองเป็นภัณฑารักษ์ ที่ดูแลสิ่งของจัดแสดงจากที่อื่นๆด้วย นอกจากสิ่งของจากเมืองไทย แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งของจากประเทศไทยนั้นถือเป็นสิ่งพิเศษสำหรับผม และแน่นอนว่ารวมไปถึงเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานนี้ด้วย เราต่างจับตามองไปยังความร่วมมือใหม่ๆในอนาคตที่จะทำร่วมกับมิตรสหาย และนักวิจัยจากที่ทำงานแบบเดียวกันจากประเทศไทยเพื่อหวังว่าเราจะร่วมจับมือวิจัยค้นคว้า และค้นหาการข้อค้นพบใหม่ๆในอนาคตที่จะถึงนี้' พอล ไมเคิล เทย์เลอร์ (Paul Michael Taylor)

ลมหายใจในงานมือแห่งแผ่นดินสยามที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปปรากฎตัวในฐานะของขวัญแห่งมิตรภาพจากแดนไกลในอีกซีกโลกในยุคศตวรรษก่อน ยังคงได้รับการรวบรวมและเก็บรักษาไว้อย่างทะนุถนอมในองค์กรด้านพิพิธภัณฑ์แห่งนครหลวงของสหรัฐฯ และยังรอคอยที่จะสืบสานและเชื่อมโยงเรื่องราวในของขวัญแต่ละชิ้นผ่านโครงการมรดกไทย หรือ Thai Heritage ที่ตัวแทนจากสถาบันสมิธโซเนียนแห่งนี้ยังต้องการเพิ่มพูนการเรียนรู้และความร่วมมือด้านวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญและผู้รู้จากเมืองไทยเพื่อสานต่อและหาคำตอบอีกมากมายร่วมกันในคลังสมบัติแห่งมิตรภาพระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ยืนยาวมากว่า 200 ปี


XS
SM
MD
LG