นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ หรือ “Great and Good Friend’นอกจากจะเป็นหนึ่งในโอกาสการรวบรวมสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ 2 ศตวรรษของไทยกับสหรัฐฯ ที่สมบูรณ์ที่สุดครั้งหนึ่งแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่สาธารณชนได้มีโอกาสชมและสัมผัส วัตถุโบราณและสิ่งของพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยจำนวนมากที่ไม่เคยนำจัดแสดงที่ใดมาก่อน รวมไปถึงเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจและชวนศึกษาในประเด็นใหม่ๆทางวิชาการอีกด้วย
หลักฐานประวัติศาสตร์ที่ทางการสหรัฐฯนำจัดแสดงในนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ หรือ “Great and Good Friends’ เพื่อยืนยันความสัมพันธ์อันยาวนานครบ 200 ปีของไทยและสหรัฐฯ คือ เอกสารจดหมายที่เขียนในภาษาโปรตุเกส ที่พระยาสุริยวงศ์มนตรี หรือ ดิศ บุนนาค เสนาบดีในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่งถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร เมื่อปีพุทธศักราช 2361 เพื่อชักชวนทำการค้าระหว่างกัน
ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการประวัติศาสตร์ และ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า เอกสารชิ้นนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ที่ช่วยเปิดพรมแดนทางวิชาการประวัติศาสตร์ความทรงจำของไทยให้น่าสนใจและกว้างขวางมากขึ้น
"คือเปิดประเด็นของการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-อเมริกาใหม่ อย่างน่าสนใจมาก เพราะว่าเท่าทีเรียนมาของฝ่ายไทย ตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯที่ทรงนิพนธ์ทูตต่างชาติกับรัตนโกสินทร์ ท่านก็ทรงนิพนธ์ว่า ฉบับแรกที่ติดต่อกันก็คือสนธิสัญญาฯในปี ค.ศ.1833( สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ลงนามวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2376)เอ็กมันด์ โรเบิร์ต ที่มาทำสัญญา เราก็เรียนอันนั้นมาตลอดเลย คือปรับการมองเยอะเลย เพราะว่าแสดงว่าจุดเริ่มต้นไม่ใช่สนธิสัญญาที่เป็นทางการ แต่มีความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการแบบระดับสนธิสัญญาก่อนแล้ว"
มุมมองของนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทย และอเมริกัน อธิบายตรงกันถึง มิตรภาพแสนพิเศษของผู้คนจากสองแผ่นดิน ที่แม้จะอยู่ห่างไกลคนละซีกโลก แต่กลับค่อยๆเรียนรู้ และรอคอยในการติดต่อสื่อสารเพื่อจะทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านระยะทางและภาษา ก่อนเจริญสัมพันธไมตรีต่อเนื่องจนนำมาซึ่งการลงสนามในสนธิสัญญาการค้าและการพาณิชย์ กับสยาม ในพุทธศักราช 2376 หรือในอีก 15 ปีต่อมา และเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่สหรัฐฯลงนามกับประเทศในทวีปเอเชีย
วิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ (William Bradford Smith) ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ “Great and Good Friends สะท้อนความพิเศษของการทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ฉบับนี้ ที่มีถึง 4 ภาษาว่า เป็นเหมือนกับประตูสู่ทวีปเอเชียที่ราชอาณาจักรสยาม ช่วยสอนให้สหรัฐฯ ได้รู้จักธรรมเนียมปฏิบัติในภูมิภาคใหม่ และทำให้ระยะห่างของผู้คนจากดินแดนไกลโพ้นได้เริ่มสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น
"ในหลายๆแง่แล้ว ไทย หรือสยามในขณะนั้นถือเป็นผู้สอนให้สหรัฐฯได้รู้จักธรรมเนียมปฏิบัติต่อบรรดาประเทศในเอเชีย และเรียนรู้วิธีการทำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ แม้จะมีระยะทางเป็นอุปสรรค ผมคิดว่าเป็นเรื่องสุดพิเศษเมือเรามองไปที่ความยาวนานของการส่งมอบของขวัญระหว่างกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19"
เช่นเดียวกับ เรื่องราวของเอกสารที่เป็นจดหมายที่เขียนด้วยลายมือ ของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น เมื่อครั้งกราบบังคมทูลตอบพระราชสาส์น รัชกาลที่ 4 ในยุคแรกเริ่มความสัมพันธ์เมื่อ ปีพุทธศักราช 2404 ที่มีคำขึ้นต้นจดหมายในภาษาอังกฤษว่า Great and Good Friendและกลายเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ ครั้งนี้
นีล มูราตะ (Neal Murata) ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย อธิบายว่า ก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชสาส์น พระราชทานถึง ประธานาธิบดีเจมส์ บิวแคเนน (James Bucanan) เมื่อปี ค.ศ.1859 โดยทรงเสนอที่จะพระราชทานช้างให้กับสหรัฐฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างสองประเทศ แต่การเดินทางของจดหมายที่ใช้เวลานาน และสหรัฐฯกำลังอยู่ในช่วงสงครามกลางเมือง จึงเป็นประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ที่รับตำแหน่งในสมัยต่อมาที่ได้จดหมายกราบบังคมทูลระบุถึงสภาพอากาศในสหรัฐฯที่อาจไม่เหมาะกับช้างไทย และกลายเป็นหลักฐานที่สะท้อนมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ของมหามิตรสองแผ่นดินได้ชัดเจน
เบื้องหลังการจัดนิทรรศการครั้งนี้ใช้เวลากว่า 3 ปีในการเตรียมการและประสานงานเพื่อรวบรวมสิ่งของต่างๆ รวมทั้งของขวัญพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ ที่อยู่ในการดูแลจากสถาบันชั้นนำหลายแห่ง
เทรเวอร์ เมอร์เรียน (Trevor Merroin) ภัณฑารักษ์ นิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ บอกว่าการเตรียมงานในส่วนของภัณฑารักษ์เพื่อจัดนิทรรศการนั้น ไม่อาจนำสิ่งของอีกหลายร้อยชิ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยและสหรัฐฯทั้งหมดมานำเสนอได้ จึงต้องค่อยๆจำแนกหมวดหมู่ และคัดเลือกวัตถุมีความหมายและสัญลักษณ์ที่เต็มไปด้วยไมตรีจิตรและมิตรภาพของทั้งสองประเทศที่ดีที่สุดไปจัดแสดงที่เมืองไทย
ยังมีวัตถุทรงคุณค่านับหลายพันชิ้นที่ไม่ได้ถูกส่งกลับไปจัดแสดง แต่ยังคงได้รับการรักษาอย่างดีภายในห้องเก็บโบราณวัตถุล้ำค่า ของสถาบันสมิธโซเนียน ที่กรุงวอชิงตันติดตามจากรายงานพิเศษวาระครบรอบ ‘2 ศตวรรษ ของขวัญแห่งมิตรภาพ’ ที่จะพาไปเปิดกรุห้องเก็บรักษาของขวัญแห่งมิตรภาพจากประเทศไทย ตอนต่อไป