บนทะเลทรายซาฮาร่าอันร้อนระอุและแห้งแล้งนั้น เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่ามากมายมหาศาล ทว่า บ้านของมันกลับไม่ใช่บนผืนทรายอย่างที่เราเคยคิด แต่อยู่บนท้องฟ้า
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ ใช้เวลาถึง 20 ปี พยายามค้นหาคำตอบของการเจ็บป่วยของผู้คนด้วยเชื้อโรคแบบเดียวกันที่กระจัดกระจายไปทั่วทุกมุมโลก ว่าแท้จริงแล้วไวรัสและเชื้อแบคทีเรียนั้นเดินทางข้ามทวีปไปได้อย่างไร
พวกเขาตั้งห้องทดลองบนเทือกเขาเซียร์รา เนวาดา ของสเปน เพื่อศึกษาการเดินทางของเชื้อโรคขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพบว่าไวรัสและแบคทีเรียหลายล้านชนิด รวมถึงเชื้อโรคร้ายมากมาย ถูกพัดขึ้นไปอยู่ในบนชั้นบรรยากาศโลก ในรูปแบบของชิ้นส่วนขนาดเล็กๆ เช่น ฝุ่นจากทะเลทรายที่เดินทางตระเวนไปถึงฟากฝั่งหนึ่งของโลกได้
อิสซาเบล เรเช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศของจุลชีพ บอกว่า เราอาจจะพบไวรัสจากทะเลทรายซาฮาราเดินทางไปยังแอมะซอน หรือไวรัสจากพื้นผิวมหาสมุทรที่เดินทางไปถึงยุโรปได้จากการเคลื่อนที่ของชั้นบรรยากาศทั้งสิ้น
ทีมวิจัยนานาชาติกลุ่มนี้ ทีมวิจัยจะพบแบคทีเรียหลายสิบล้านชนิดและไวรัสเกือบ 1 พันล้านตัวต่อตารางเมตรอยู่ในชั้นบรรยากาศในพื้นที่สำรวจนี้ทุกวัน ไวรัสส่วนใหญ่จะถูกพัดมาจากละอองน้ำในทะเลลอยไปสู่ชั้นบรรยากาศ และกลับลงมาสู่โลกด้วยฝนและพายุฝุ่น
คุณเรเช เพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่การเดินทางของพวกมัน แต่คือจำนวนของไวรัสและแบคทีเรียจำนวนมหาศาลบนชั้นบรรยากาศ ซึ่งช่วยไขข้อข้องใจว่าทำไมเราถึงพบไวรัสรูปแบบเดียวกันในหลายทวีปทั่วโลก
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Society for Microbial Ecology ชิ้นนี้ อาจทำให้คุณมองขึ้นไปบนท้องฟ้าในแบบที่ไม่เหมือนเดิม แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตบนโลกอันแสนซับซ้อนนี้ได้