ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของพลเอกมาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกจับตามองระหว่างการสอบสวนเหตุการณ์จลาจลยึดอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อพยายามหยุดยั้งกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 6 มกราคมปีที่แล้ว
เอพีรายงานว่า คณะตรวจสอบหาความจริงเปิดคลิปเสียงของพลเอกมิลลีย์ ขณะแสดงทัศนะต่อท่าทีอดีต ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ในวันเกิดเหตุว่า “คุณเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีเหตุโจมตีที่อาคารรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา แล้วจะไม่มี (ท่าที) เลยเหรอครับ? ไม่สั่งการ? ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลยเหรอครับ”
คลิปเสียงของพลเอกมิลลีย์ยังระบุต่อว่า อดีตรอง ปธน. ไมค์ เพนซ์ กลับมีท่าทีต่างออกไป โดยเพนซ์ให้ “คำสั่งที่ตรงและชัดเจนมาก” ต่อเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติการปกป้องอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ตามการถ่ายทอดการไต่สวนที่เผยแพร่โดยเครือข่ายโทรทัศน์สาธารณะอเมริกัน C-SPAN
พลเอกมิลลีย์เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่กองทัพระดับสูงแปดนายที่ร่วมออกแถลงการณ์หลังเกิดเหตุดังกล่าว โดยระบุว่า เหตุจลาจลนี้เป็นการโจมตีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าโจ ไบเดน คือประธานาธิบดีและโดยตำแหน่งยังเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ คนต่อไป
หนังสือ “I Alone Can Fix it” ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับช่วงปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของอดีต ปธน. ทรัมป์ โดยฟิลิป รัคเกอร์ และคาโรล ลีออนนิก สองผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ระบุว่า หลังการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 พลเอกมิลลีย์แสดงความกังวลถึงความเป็นไปได้ว่าอาจมีการล้มผลการเลือกตั้ง และเขาต้อง “เตรียมพร้อม” ต่อเหตุที่อาจเกิดขึ้น
หนังสือ I Alone Can Fix it ยังระบุว่า พลเอกมิลลีย์มองว่า อดีต ปธน. ทรัมป์ เป็น “ผู้นำสายอำนาจนิยมแบบคลาสสิคที่ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว” และยังเปรียบเทียบว่า คำกล่าวอ้างของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ที่ระบุว่าเขาเป็นเหยื่อของการทุจริตเลือกตั้งนั้น คล้ายคลึงคำกล่าวอ้างของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เผด็จการนาซี ที่กล่าวกับผู้สนับสนุนของเขาว่าเขาเป็นทั้ง “เหยื่อ” ของสงคราม และ “ผู้ช่วยชีวิต” ของชาวเยอรมัน
ทางด้านอดีตผู้นำสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ยาวกว่า 400 คำบนเว็บไซต์ของเขา ตอบโต้พลเอกมิลลีย์ ผู้ที่เขาแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะเสนาธิการร่วมเมื่อปี 2019 โดยระบุว่า เขาไม่เคยเอ่ยถึงการทำรัฐประหารเพื่อรัฐบาลของเขากับใครเลย และหากเขาคิดจะทำจริง พลเอกมิลลีย์จะเป็นหนึ่งในคนสุดท้ายที่เขาจะทำรัฐประหารด้วย
เว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า พลเอกมิลลีย์เป็นนายทหารที่มีตำแหน่งสูงสุดในกองทัพสหรัฐฯ และเป็นที่ปรึกษาด้านการทหารหลักของ ปธน. สหรัฐฯ โดยพลเอกมิลลีย์เคยดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพบกสหรัฐฯ มาก่อน และเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพบกคนที่ 10 ที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ พลเอกมิลลีย์ยังเคยปฏิบัติการในหลายพื้นที่ เช่น อิรัก อัฟกานิสถาน อียิปต์ เฮติ โซมาเลีย อีกด้วย
พลเอกมิลลีย์เคยถูกวิจารณ์อย่างหนักเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 จากการใส่ชุดลายพรางร่วมถ่ายรูปกับอดีต ปธน. ทรัมป์ที่โบสถ์เซนต์จอห์นใกล้กับทำเนียบขาว เป็นเวลาไม่นานหลังเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายผู้ชุมนุมอย่างสันติต่อกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวสังหารระหว่างการจับกุมในบริเวณใกล้เคียงโดยพลเอกมิลลีย์กล่าวขอโทษต่อเหตุดังกล่าวในเวลาต่อมา ตามรายงานของรอยเตอร์
อย่างไรก็ตาม หนังสือ I Alone Can Fix it ระบุว่า พลเอกมิลลีย์เคยพยายามปกป้องสหรัฐฯ จากการถูกแทรกแซงหลายครั้ง เช่น เมื่อครั้งที่เขาพยายามหยุดยั้งอดีต ปธน. ทรัมป์ ไม่ให้ปลดคริส เวรย์ ผู้อำนวยการของสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ และจินา แฮสเปล ผู้อำนวยการของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ออกจากตำแหน่ง
หนังสือเล่มนี้ยังระบุถึงคำพูดของพลเอกมิลลีย์ในช่วงก่อนเกิดเหตุวันที่ 6 มกราคมว่า “พวกเขาอาจลอง (ก่อเหตุ) แต่ไม่มีทางสำเร็จหรอก คุณทำไม่ได้หรอกถ้าไม่มีกองทัพ คุณทำไม่ได้หรอกถ้าไม่มีซีไอเอและเอฟบีไอ พวกเราเป็นคนที่มีปืน”
- ที่มา: เอพี, รอยเตอร์, C-SPAN, คณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ, กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ, donaldjtrump.com