ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย University of Texas ในเมือง San Antonio ชี้ว่าทีมงานได้สังเกตุเห็นการระเบิดในห้วงอวกาศขนาดใหญ่ (galactic blast) หรือ การเรอ ที่ออกมาจากหลุมดำขนาดใหญ่หลุมหนึ่งที่ตั้งอยู่ห่างจากโลกมนุษย์ไปราว 26 ล้านปีแสง
ทีมนักวิจัยชี้ว่ารอบๆ หลุมดำดังกล่าวมีกาแลคซี่แบบเกลียวขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากาแลคซี่ NGC 5194 กำลังพุ่งเข้าชนกับกาแลคซี่ขนาดเล็กกว่าที่เรียกว่ากาแลคซี่ NGC 5195
การชนกันของกาแลคซี่ทั้งสองนี้เกิดแก๊สขึ้นในปริมาณมหาศาล ซึ่งแก๊สที่เกิดขึ้นถูกหลุมดำดูดและกลืนลงไป การกลืนสสารและวัสดุปริมาณมหาศาลเข้าไปทำให้หลุมดำเกิดอาการ "เรอ" ซึ่งเชื่อว่าเรอที่ออกมาจากหลุมดำนี้มีสสารออกมามากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ๆ ขึ้นมาได้
บรรดานักดาราศาสตร์เรียกการเรอนี้ว่าปฏิกริยาย้อนกลับ
คุณ Eric Schlegel นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสซึ่งเป็นหัวหน้าการวิจัยนี้กล่าวกับองค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐหรือนาซ่าว่า หลุมดำอาจจะเรอออกมาหลังจากที่มันกลืนกินสสารและวัสดุต่างๆ ในอวกาศเข้าไป
เขากล่าวว่าการสังเกตุการณ์ของทีมงานวิจัยนี้มีความสำคัญเพราะว่าการเรอของหลุมดำแบบนี้มักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงต้นๆ ของการกำเนิดขึ้นของจักรวาล ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่วิวัฒนาการของบรรดากาแลคซี่ต่างๆ เขากล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่หลุมดำจะเรอแก๊สออกมา แต่ไม่เกิดขึ้นบ่อยที่เราจะสังเกตุเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ได้อย่างชัดเจนและในระยะใกล้
ทีมนักวิจัยชี้ว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะมีบทบาทในการก่อกำเนิดของจักรวาลในระยะเริ่มต้น
คุณ Eric Schlegel หัวหน้าทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสกล่าวว่า พฤติกรรมของหลุมดำน่าจะเป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงที่จักรวาลยังมีอายุน้อยอยู่ และนี่ยิ่งทำให้ผลการสังเกตุการณ์นี้มีความสำคัญอย่างมาก
ทีมนักวิจัยทีมนี้ใช้กล้องส่องทางไกล Chandra X-ray telescope ของนาซ่า ที่ช่วยให้ทีมงานมองเห็นแก๊สที่มีความร้อนเป็นรูปเส้นโค้งสองเส้น และยังเห็นชั้นบางๆ ของแก๊สไฮโดรเจนที่มีความเย็นกว่า ทีมนักวิจัยอธิบายว่าภาพที่มองเห็นชี้ว่าแก๊สที่มีความร้อนมากกว่าพุ่งทะลุบรรยากาศที่เย็นกว่าเหมือนกับรถตักหิมะ
การค้นพบของทีมนักวิจัยอเมริกันครั้งนี้อาจจะทำให้เรามองหลุมดำต่างไปจากเดิม
คุณ Marie Machacek นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่ศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด สมิธโซเนี่ยน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) ซึ่งเป็นผู้ร่วมร่างรายงานผลการศึกษานี้กล่าวว่า ทีมงานคิดว่าพฤติกรรมของหลุมดำที่กลืนกินสสารในอวกาศและเรอแก๊สปริมาณมหาศาลออกมานี้ มีส่วนช่วยควบคุมไม่ให้กาแลคซี่มีขนาดใหญ่มากเกินไป
แต่ในขณะเดียวกัน การเรอแก๊สของหลุมดำยังมีส่วนก่อให้เกิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย
แสดงให้เห็นว่าหลุมดำมีบทบาทของผู้ให้กำเนิด ไม่ได้เป็นเพียงเเค่ผู้ทำลายอย่างที่เรามองกันมาตลอด
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน )