ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มาเลเซียปิดดีลส่งออกทุเรียนไปจีน-แย้มแผนร่วมกลุ่มบริคส์


นายกฯ จีน หลี่ เฉียง จับมือ นายกฯ มาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ในการพบกันที่มาเลเซีย เมื่อ 19 มิ.ย. 2024 (Syazrul Azis/Department of Information Malaysia/Handout via REUTERS)
นายกฯ จีน หลี่ เฉียง จับมือ นายกฯ มาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ในการพบกันที่มาเลเซีย เมื่อ 19 มิ.ย. 2024 (Syazrul Azis/Department of Information Malaysia/Handout via REUTERS)

ทุเรียนมาเลเซียมุ่งหน้าถึงจีนในเร็ว ๆ นี้ หลังจากมาเลเซียลงนามข้อตกลงการค้าและเศรษฐกิจกับจีน เมื่อวันพุธ ระหว่างการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีระหว่างกัน

ในโอกาสฉลองสัมพันธ์ 50 ปี จีน-มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยสื่อเบอร์นามาของมาเลเซียว่า “จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับมาเลเซีย”

ทางการมาเลเซียเผยว่า นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการลงนามข้อตกลงหลายฉบับ รวมทั้งดีลความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจฉบับใหม่เป็นเวลา 5 ปี ในภาคการผลิตและเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนด้านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ การส่งเสริมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และชุมชนเมือง การส่งเสริมการศึกษาระดับสูง การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมระหว่างกัน

นอกจากนี้ ยังมีการลงนามข้อตกลงส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับมาเลเซียที่เริ่มต้นการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนกวนไปจีนเมื่อปี 2011 และส่งออกทุเรียนแช่แข็งในปี 2018 ตามลำดับ โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกทุเรียนแช่แข็งของจีนเพิ่มสูงขึ้นจาก 170 ล้านริงกิต (36 ล้านดอลลาร์) ในปี 2018 มาเป็น 1,200 ล้านริงกิต (255 ล้านดอลลาร์) เมื่อปีก่อน

ระหว่างที่ประเด็นการค้าเป็นเรื่องสำคัญในการหารือของสองประเทศ ประเด็นทะเลจีนใต้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยด้วยเช่นกัน โดยทั้งสองผู้นำเห็นชอบว่าจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรจัดการความขัดแย้งทางทะเล ผ่านการเจรจา ความร่วมมือ และผ่านความตกลงทวิภาคี “อย่างเป็นอิสระและเหมาะสม” ตามรายงานของสื่อซินหัวของจีน แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทั้งนี้ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ต่างมีประเด็นพิพาทกับจีนเรื่องการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ โดยมาเลเซียเลือกที่จะใช้ช่องทางการทูตและแทบจะไม่ออกโรงวิจารณ์รัฐบาลปักกิ่งเหมือนกรณีของประเทศอื่น ๆ แม้ว่าเรือยามฝั่งจีนจะล่องมาใกล้น่านน้ำของมาเลเซียหลายครั้งก็ตาม ซึ่งเหตุผลหนึ่งคือการรักษาความสัมพันธ์การค้าระหว่างสองประเทศ

นายกฯ มาเลเซีย แย้มแผนร่วม BRICS

ก่อนการเยือนมาเลเซียของนายกฯ จีน นายกฯ มาเลเซีย ได้เผยกับสื่อจีนว่ามาเลเซียมีแผนที่จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยแผนดังกล่าวได้รับการยืนยันจากทางการมาเลเซียเมื่อวันจันทร์

กลุ่ม BRICS เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 โดยมีสมาชิกชุดแรก คือ บราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย และมีแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นมาในปี 2010 ก่อนที่เมื่อต้นปีนี้จะมีสมาชิกเพิ่มอีก 4 ประเทศ คือ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่ในตอนนี้มี 40 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

ในทัศนะของเจมส์ ชิน อาจารย์ด้านเอเชียศึกษา แห่ง University of Tasmania ของออสเตรเลีย เห็นว่า “การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ไม่ได้หมายความว่ามาเลเซียจะสูญเสียแนวทางคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและวอชิงตัน แต่หมายถึงแพลตฟอร์มที่ให้ซุ่มเสียงที่ใหญ่ขึ้นสำหรับกลุ่มอำนาจที่เป็นกลาง”

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG