ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ โทรศัพท์แสดงความยินดีต่อนายเอ็มมานูเอล มาคร็อง ว่าที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ เหนือคู่แข่ง คือ มารีน เลอ เป็ง
โฆษกทำเนียบขาว ฌอน สไปเซอร์ กล่าวว่า "ปธน.ทรัมป์ ได้โทรศัพท์ถึงนายมาคร็องในวันจันทร์เพื่อแสดงความยินดี และบอกว่าพร้อมจะทำ
งานร่วมกับผู้นำคนใหม่ของฝรั่งเศส"
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี่ คลินตั้น ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชน เจสซี่ แจ็คสัน และนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก บิล เดอ บลาซิโอ
คือส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้นำทางการเมืองสหรัฐฯ ที่ร่วมแสดงความยินดีต่อนายมาคร็องและประชาชนฝรั่งเศส
และในวันจันทร์ เว็บไซต์ของรัฐบาลรัสเซียได้เผยแพร่คำกล่าวแสดงความยินดีของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน โดยกล่าวว่า
"นายมาคร็องสามารถเอาชนะใจประชาชนฝรั่งเศสให้เป็นผู้นำประเทศในช่วงที่ยุโรปกำลังเกิดวิกฤติในหลายด้าน เช่น ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย และความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป"
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้นักการเมืองวัย 39 ปีชาวฝรั่งเศส กลายเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่อายุน้อยที่สุด และนำความโล่งอกมาให้กับพันธมิตรของฝรั่งเศสในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี หัวเรือใหญ่ของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร
โดยหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเยอรมนีพาดหัวว่า "ชัยชนะของมาคร็อง ชัยชนะของยุโรป"
ทางด้านนายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ กล่าวว่า "ชัยชนะของนายมาคร็อง ถือเป็นการแสดงความมั่นใจของชาวฝรั่งเศส ที่มีต่อสหภาพยุโรป"
ส่วนประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มีคำแถลงว่า "จีนยินดีผลักดันความร่วมมือกับฝรั่งเศสให้ขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม"
นายมาคร็องจะเริ่มรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์นี้ และเริ่มทำงานทันที
โดยก่อนหน้านี้เขากล่าวไว้ว่า หากเขาชนะเลือกตั้ง คงไม่มีช่วงเวลาฮันนีมูนทางการเมืองมากนัก เพราะมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งจัดการ โดย
เฉพาะความท้าทาย 3 ประการที่ฝรั่งเศสกำลังเผชิญ
หนึ่งคือการเจรจาเรื่องการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป สองคือวิกฤติการณ์หนี้ของกรีซที่กำลังคุกคามค่าเงินยูโร
และสามคือการขยายตัวของกระแสต่อต้านสหภาพยุโรปในอิตาลี ที่เรียกว่า Five-Star Movement ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในอิตาลีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า