นายเอ็มมานูเอล มาคร็อง ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในวันอาทิตย์ หลังจากใช้แนวทางหาเสียงด้วยนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจ และต้องการให้ฝรั่งเศสยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป พร้อมด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาจากพรรคทางเลือก
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้นักการเมืองวัย 39 ปีผู้นี้ กลายเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่อายุน้อยที่สุด และนำความโล่งอกมาให้กับพันธมิตรของฝรั่งเศสในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนีหัวเรือใหญ่ของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร
เขาเอาชนะคู่แข่งจากพรรคอนุรักษ์นิยมขวาจัด มารีน เลอ เป็ง ที่ต่อต้านแนวทางเปิดกว้างเรื่องผู้ลี้ภัย และเป็นผู้วิจารณ์เยอรมนีและกลุ่มยูโรโซนคนสำคัญ
นายมาคร็องกล่าวรับชัยชนะของตนว่า “ข้าพเจ้าทราบดีถึงการแบ่งแยกในประเทศ ที่ได้ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกผู้มีความคิดสุดโต่ง ข้าพเจ้าเคารพเสียงของพวกเขา”
ว่าที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของตนที่จะสร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างฝรั่งเศสและยุโรปโดยจะต้องประสานความแตกแยก ความหวั่นใจ ความโกรธ และความสงสัยต่างๆ ให้ได้
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกอล่า เมอเคิ่ล โทรศัพท์แสดงความยินดีต่อนายมาคร็อง ผู้ชนะซึ่งได้คะแนนเสียงร้อยละ 65 ต่อ 34.5 ตามผลอย่างไม่เป็นทางการ
และนายมาคร็องบอกว่าตนจะเดินทางไปพูดคุยกับนางเมอร์เคิ่ล ที่กรุงเบอร์ลิน อีกไม่นานจากนี้
ประธานคณะกรรมาธิการสภายุโรป นายฌอง คล้อด ยุงเคอร์ กล่าวว่า "ดีใจที่นายมาคร็องปกป้องแนวทางที่จะทำยุโรปให้แข็งแกร่งและมีนโยบายสายก้าวหน้ามากขึ้น"
ผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตแสดงความยินดีต่อว่าที่ผู้นำฝรั่งเศสเช่นกัน และบอกว่าตนรอคอยที่จะได้พบกับนายมาคร็อง
คณะหาเสียงของนายมาคร็อง สามารถเดินทางผ่านพ้นอุปสรรคและสิ่งท้าทายหลายอย่าง ทั้งการถูกแฮ็คระบบคอมพิวเตอร์ การปล่อยข้อมูลภายในสู่สาธารณชนก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งทำให้หลายคนนึกถึงเหตุการณ์ที่กระทบทีมหาเสียงของนาง ฮิลลารี คลินตั้น ที่พ่ายแพ้ต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว
งานสำคัญเร่งด่วนของนายมาคร็องคือ การทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง “ออง มาร์ช” (En Marche) ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงหนึ่งปี ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งของสภาในเดือนหน้า
หากเขาสามารถทำได้ การเดินหน้านโยบายต่างๆ ก็จะมีความคล่องตัวมากขึ้น
(รายงานโดย Reuters / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)