ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฝรั่งเศสห้ามนักเดินทางจากอังกฤษเข้าประเทศ-อียู ยกระดับมาตรการพรมแดนต้าน ‘โอมิครอน’


FILE - Travellers shows their documents to a border police officer at the immigration desk of Roissy Charles-de-Gaulle international airport, Feb. 1, 2021,
FILE - Travellers shows their documents to a border police officer at the immigration desk of Roissy Charles-de-Gaulle international airport, Feb. 1, 2021,

รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศสำหรับผู้ที่มาจากอังกฤษ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีเป็นต้นไป โดยอ้างเหตุผลเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หลายประเทศสั่งยกระดับการควบคุมพรมแดนสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากนอกกลุ่มด้วย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอน ที่มีความสามารถติดต่อได้อย่างง่ายดาย และมีรายงานการพบแล้วหลายจุดทั่วโลก กลายมาเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอังกฤษพุ่งสูงทำสถิติใหม่รายวัน และส่งผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจจำกัดคำอนุญาตให้เฉพาะนักเดินทางบางประเภท ซึ่งรวมถึง คนขับรถบรรทุกส่งของ ที่จะยังเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างทั้งสองไปได้ โดยผู้ที่มาจากฝั่งอังกฤษจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนแยกตัวเฝ้าระวังอาการด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานด้วยว่า การระบาดระลอกใหม่ในอังกฤษยังส่งผลให้โรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศประสบปัญหาด้านจำนวนบุคลากรที่จะเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากต้องเข้าสู่กระบวนการแยกตัวเฝ้าระวังอาการ ขณะที่ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกาศยกเลิกแผนงานเลี้ยงวันคริสต์มาสกับสมาชิกพระราชวงศ์ทั้งหลายด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยด้วยเช่นกัน

ส่วนที่สวีเดนนั้น รัฐบาลเปิดเผยแผนที่จะบังคับให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนอร์ดิกอื่นๆ ต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังอัตราผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกัน เกิดความตึงเครียดขึ้นอย่างมากในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูที่กรุงบรัสเซลส์ หลัง อิตาลี โปรตุเกส และกรีซ ประกาศว่า จะอนุญาตเฉพาะนักเดินทางที่สามารถแสดงผลตรวจโควิด-19 ที่เป็นลบและหลักฐานการฉีดวัคซีนครบเท่านั้น ให้ข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศตนได้ โดย นายกรัฐมนตรี คริสเตียนิส แครินส์ กล่าวว่า เสรีภาพในการเดินทางภายในพรมแดนของอียู ภายใต้ความตกลงเชงเกนนั้น จะต้องคงอยู่ต่อไปโดยไม่มีการยุติ

XS
SM
MD
LG