ปีหน้าจะเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปีพอดีที่เกิดเหตุการณ์ระบาดครั้งใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1918 ซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก
และแม้วงการแพทย์จะมีความก้าวหน้าไปมากในด้านการคิดค้นพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ปัจจุบันก็ยังคงไม่มีวัคซีนในการยับยั้งเชื้อไวรัสในช่วงฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ได้อย่างประสิทธิภาพเพียงพอ
ในแต่ละปี นักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยประเมินว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีต่อไปนั้นคือสายพันธุ์ไหน ซึ่งแม้วัคซีนที่ได้นั้นจะสามารถป้องกันการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรืออาจเสียชีวิตได้พอสมควรนั้น แต่ก็ยังคงไม่ใช่วัคซีนที่ดีที่สุดที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ได้แบบครอบจักรวาล
ดร.แอนโธนี เฟาซี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NIH กล่าวว่า แม้แต่ในปีที่มีวัคซีนที่ดี ประสิทธิผลโดยรวมของวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นยังอยู่ที่ระดับเพียง 60% โดยบางปีนั้นประสิทธิผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่ในระดับต่ำราว 10% เท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นจะดีกว่าไม่ฉีด แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับวัคซีนโรคหัด โรคโปลิโอ หรือไข้เหลือง ที่มีอัตราความสำเร็จในการป้องกันโรคได้สูงกว่า 90%
ทางด้านบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เองก็ดูจะยังไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้เช่นกัน
ดร.เดวิด วอห์น ผอ.ฝ่ายวิจัยและพัฒนาวัคซีนของบริษัท GlaxoSmithKline (GSK) กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นเป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไป โดย 20% ของประชากรโลกมีโอกาสเป็นโรคนี้อย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 ปี การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงไม่ควรเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเกินไป
ขณะเดียวกัน เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ซึ่ง ดร.แอนโธนี เฟาซี่ แห่ง NIH เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเกิดการระบาดครั้งใหญ่แน่นอน ตัวอย่างเช่น การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 หรือ Swine Flu เมื่อปี ค.ศ. 2009 ซึ่งแม้จะไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ถือเป็นการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไปทั่วโลก และสร้างความกังวลอย่างมากให้วงการแพทย์
แม้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่นักวิจัยพบว่ามีบางส่วนของเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี และนั่นอาจเป็นกุญแจสำคัญในการคิดค้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม
(ผู้สื่อข่าว Carol Pearson รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)