ผลการศึกษาวิจัยชี้ว่า ราวหนึ่งในแปดของยาสามัญในประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง อาจเป็นของปลอม หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตราย ทำให้ชีวิตของผู้ป่วยแขวนอยู่บนความเสี่ยง
นักวิจัยตรวจสอบข้อมูลจากการศึกษาครั้งก่อนหน้านี้จำนวน 350 ฉบับ ที่ทดสอบตัวอย่างยากว่า 400,000 ตัวอย่างในบรรดาประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง พบว่า เฉลี่ยแล้วราว 14% เป็นยาที่ปลอมแปลง หมดอายุ หรือมีคุณภาพต่ำและไม่ปลอดภัย หรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ผู้ป่วยอาจคาดหวังไว้
คุณซาจิโกะ โอซาว่า จากมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลน่า วิทยาเขต Chapel Hill ผู้นำการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า ยาที่มีคุณภาพต่ำอาจไม่มีหรือมีส่วนผสมของตัวยาที่ใช้งานได้จริงน้อยมาก ซึ่งจะยืดระยะเวลาในการเจ็บป่วย และนำไปสู่ความล้มเหลวในการรักษาและทำให้เกิดอาการดื้อยาได้
และว่ายาบางชนิดอาจมีตัวยามากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยใช้ยาเกินขนาด หรือถ้ายามีการปนเปื้อนหรือมีส่วนประกอบอื่นๆ อาจทำให้ยานั้นเป็นพิษ ทำให้ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาต่อยาในทิศทางตรงกันข้าม และอาจทำให้เสียชีวิตได้
การศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับยาปลอมหรือยาอันตรายอื่นๆ ในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่แอฟริกา ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของการศึกษาก็มีขึ้นในแถบนั้น
รายงานการวิจัยใน JAMA Network Open ระบุว่า เกือบหนึ่งในห้าของยาที่ทดสอบในแอฟริกา ล้วนแล้วแต่เป็นยาปลอม หรือเป็นยาที่ไม่ปลอดภัย ส่วนการศึกษาในเอเชียระบุว่า 14% ของยาที่ทดสอบเป็นยาปลอม หรือยาอันตราย
ยาปฏิชีวนะและยาต้านมาเลเรียเป็นยาที่มีการทดสอบมากที่สุด เฉลี่ยแล้ว 19% ของยาต้านมาเลเรีย และ 12% ของยาปฏิชีวนะถูกปลอมแปลงขึ้นมา หรือเป็นยาที่ไม่ปลอดภัย
แม้ว่ายาปลอมหรือยาที่ผลิตขึ้นอย่างไม่ถูกต้องจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การวิเคราะห์ในปัจจุบัน ไม่สามารถบอกได้ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบร้ายแรงหรือเสียชีวิตเนื่องจากยาปลอมเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
คุณซาจิโกะ โอซาว่า กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะไม่ได้มีการตรวจสอบยาในประเทศที่มีระดับรายได้สูง แต่ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของยาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศยากจนเท่านั้น เพราะแม้แต่ในประเทศที่มีรายได้สูง การซื้อยาที่ราคาถูกกว่าจากแหล่งขายยาออนไลน์ที่ผิดกฏหมาย อาจจะได้รับยาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือยาปลอมแปลง
ดังนั้นควรตรวจสอบแหล่งที่มาก่อนที่จะซื้อยา และให้ผู้กำหนดนโยบายทราบถึงปัญหาเพื่อการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานสำหรับยาทั่วโลก