เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธวิถีโค้งข้ามทวีป หรือ ICBM (Intercontinental ballistic missile) ฮวาซอง-17 (Hwasong-17) ในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลครั้งแรกของเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 และเป็นการสะท้อนว่าผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ได้หวนกลับไปในยุคแห่ง “เพลิงและโทสะ” อีกครั้ง ในการปัดฝุ่นโครงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ที่พุ่งเป้ากดดันสหรัฐฯ ให้ยอมรับเกาหลีเหนือในฐานะประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ และปลดเปลื้องมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือเสียที
สำนักข่าวเอพี จับตาความก้าวหน้าของขีปนาวุธล่าสุดรวมทั้งก้าวต่อไปของผู้นำเกาหลีเหนือว่าจะเดินหมากในเกมนี้อย่างไร?
ความก้าวหน้าด้านขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ?
ขีปนาวุธ ฮวาซอง-17 เป็นขีปนาวุธวิถีโค้งข้ามทวีป หรือ ICBM มีความยาว 25 เมตร ซึ่งถือเป็นระบบขีปนาวุธขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่สามารถยิงจากระบบเคลื่อนที่บนท้องถนนได้ เคยปรากฏโฉมในขบวนสวนสนามเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 ขณะที่การทดสอบเมื่อวันพฤหัสบดีนี้ เป็นการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรก และยิงขีปนาวุธนี้จากสนามบินใกล้กับกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือ
ภาพจากสื่อของทางการเปียงยาง เผยให้เห็นความสำเร็จของการทดสอบขีปนาวุธ โดยมีผู้นำคิม เดินผ่านขีปนาวุธลูกนี้ ในลุคที่สวมเสื้อหนังสีดำและแว่นตาดำ และบรรยากาศของการทดสอบขีปนาวุธนี้ ละม้ายคล้ายกับฉากในหนังดังในฮอลลีวู้ด รวมถึงมีจังหวะที่ผู้นำคิมขยับแว่นตาเพื่อมองตรงมาที่กล้องถ่ายภาพด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 เกาหลีเหนือ ทดสอบขีปนาวุธ ICBM ฮวาซอง-15 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ซึ่งนำไปสู่การปะทะคารมอย่างดุเดือดและข่มขู่กันไปมาระหว่างผู้นำคิม กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ระบุว่า เกาหลีเหนือจะต้องพบกับเพลิงและโทสะอย่างที่ทั่วโลกไม่เคยได้พบเจอ
ระหว่างขีปนาวุธ ฮวาซอง-15 ได้แสดงแสนยานุภาพว่ายิงไกลมาถึงอเมริกา แต่ขีปนาวุธฮวาซอง-17 นี้ ร้ายแรงกว่าและไปได้ไกลกว่าด้วย โดยข้อมูลของสื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ระบุว่า ขีปนาวุธฮวาซอง-17 ยิงออกไปในมุมสูงเพื่อหลีกเลี่ยงน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน และเดินทางขึ้นไปแตะระดับที่ความสูง 6,248 กิโลเมตร และไกลถึง 1,090 กิโลเมตร ก่อนจะตกบริเวณน่านน้ำระหว่างเกาหลีเหนือและญี่ปุ่น ข้อมูลดังกล่าว ตรงกับรายงานของกองทัพเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่ระบุว่า ขีปนาวุธพิสัยไกลนี้สามารถเดินทางได้ไกลกว่า 15,000 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่าจะสามารถโจมตีได้ถึงดินแดนของสหรัฐฯ ได้นั่นเอง
การขยายระยะโจมตีของขีปนาวุธวิถีโค้งข้ามทวีป มีความสำคัญต่อเกาหลีเหนือ ในการสร้างภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ที่เป็นไปได้ต่อสหรัฐฯ ในมุมมองของลี ชุน กึน นักวิจัยจากสถาบัน South Korea’s Science and Technology Policy Institute เพราะการจะโจมตีดินแดนของสหรัฐฯ ได้ ขีปนาวุธลูกก่อนๆ อาจทำได้แค่พุ่งมาถึงอลาสกา ที่สหรัฐฯ วางระบบต่อต้านขีปนาวุธไว้มากมาย แต่ระยะโจมตีของฮวาซอง-17 ในทางทฤษฎีจะเปิดทางให้เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามอลาสกา มุ่งหน้าไปฝั่งตะวันตกเพื่อไปถึงดินแดนของสหรัฐฯ ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกได้
ขีปนาวุธที่ใหญ่กว่าเดิม?
ณ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานถึงสถานะของหัวรบที่ติดไปกับขีปนาวุธ ICBM ในการทดสอบครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือเมื่อวันพฤหัสบดี แม้แต่ฝั่งเกาหลีเหนือเองยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด ขณะที่ญี่ปุ่น เตรียมค้นหาซากของขีปนาวุธเพื่อตรวจสอบวิเคราะห์เทคโนโลยีดังกล่าวของเกาหลีเหนือเพิ่มเติม
ด้านนักวิเคราะห์ ชิน จง วู แห่ง South Korea’s Defense and Security Forum บอกว่า การพัฒนาขีปนาวุธ ICBM ที่ใหญ่ขึ้นของเกาหลีเหนือ ไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องของระยะโจมตี เท่ากับปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ที่เป็นเป้าหมายอันทะเยอทะยานของโสมแดง เพราะนั่นสามารถเพิ่มโอกาสในการโจมตีระบบป้องกันขีปนาวุธได้ ไม่ว่าขีปนาวุธจะเดินทางผ่านอลาสกาไปหรือไม่ก็ตาม
ระหว่างเกาหลีเหนืออาจต้องใช้เวลาหลายปีและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก เพื่อสร้างขีปนาวุธ ICBM แบบติดหัวรบหลายชิ้น แต่ตอนนี้ก็เป็นเรื่องยากที่สหรัฐฯ จะเพิกเฉยต่อเป้าหมายของเกาหลีเหนือ ที่จะก่อภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ได้
ทั้งชิน และลี เห็นตรงกันว่า เกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลแบบฮวาซอง-17 มากขึ้นอีก รวมถึงการทดสอบเหนือน่านน้ำญี่ปุ่น เพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลวอชิงตัน และเปิดทางให้นักวิทยาศาสตร์เกาหลีเหนือได้เห็นวิถีของขีปนาวุธในสภาวการณ์ปกติ เหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2017
เกาหลีเหนือจะเดินหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่?
เกาหลีเหนือ ส่งสัญญาณว่าจะกลับมาเดินหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ที่ยุติไปเมื่อปี 2018 เพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่จะได้รับจากสหรัฐฯ
เวทีประชุมสุดยอด คิม-ทรัมป์ ครั้งแรกเป็นไปได้สวย ก่อนการเจรจาจะล้มเหลวในครั้งที่สอง เมื่อปี 2019 เมื่อสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือให้ผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจรอบใหญ่ เพื่อแลกกับการจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือบางส่วน
เมื่อปี 2017 เกาหลีเหนือประกาศปิดศูนย์ทดสอบนิวเคลียร์ ปุงกเยรี และให้สื่อต่างชาติเข้าไปสังเกตการณ์ในปีถัดมา แต่ไม่ได้เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกได้ตรวจสอบว่าเกาหลีเหนือทำลายศูนย์ทดสอบนี้ไปแล้วหรือไม่
นักวิเคราะห์เกาหลีใต้บางราย เห็นว่าเกาหลีเหนืออาจต้องการกลับมาเดินหน้าโครงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เพื่อให้ได้รับความสนใจจากคณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ที่เสนอการเปิดโต๊ะเจรจา แต่ไม่มีจุดประสงค์ที่จะรามือจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ
ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือระดมทดสอบในปีนี้ ทั้งที่อ้างว่าเป็นขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงและขีปนาวุธที่พุ่งเป้าโจมตีเกาหลีใต้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เกาหลีเหนืออาจใช้การทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง เพื่อชูศักยภาพในการสร้างหัวรบนิวเคลียร์ที่เล็กพอที่บรรจุเข้ากับขีปนาวุธเหล่านี้ได้เช่นกัน
- ที่มา: เอพี