รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาลต่างชาติให้เข้าแทรกแซงธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) สถาบันการเงินขนาดใหญ่อันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์ที่กำลังประสบปัญหาการเงิน และมีความเสี่ยงที่จะต้องล้มลงตามสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐฯ อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์
หุ้นของเครดิตสวิสปรับตัวลดลงมากกว่า 30% ในวันพุธ เช่นเดียวกับดัชนีหุ้นต่าง ๆ ในยุโรป
ขณะที่เครื่องมือป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ที่เรียกว่า CDS (Credit Default Swaps) ระยะเวลา 5 ปีของธนาคารสวิสซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงในระบบการเงินของสวิตเซอร์แลนด์
ธนาคารเครดิตสวิสประสบปัญหาในการหาเงินทุนเพิ่มเติมจากบรรดานักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่เชื่อมั่นในธนาคารและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด คือ ธนาคารแห่งชาติซาอุดิฯ (Saudi National Bank) ยืนยันว่าจะไม่เพิ่มการลงทุนในเครดิตสวิส ทำให้ต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) และ องค์กร FINMA ผู้ดูแลตรวจสอบทางการเงินของสวิตเซอร์แลนด์
ในวันอังคาร เครดิตสวิสเปิดเผยว่า ผู้บริหารได้ระบุถึง ความอ่อนแอในระบบการควบคุมภายในของรายการทางการเงินในช่วงปลายปีที่แล้ว
ต่อมาในวันพุธ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเครดิตสวิส ได้กล่าวที่การประชุมมรกรุงริยาดห์ ซาอุดิอาระเบีย ยืนยันว่าทางธนาคารได้รับยาแรงเพื่อลดความเสี่ยงไปแล้ว และขณะนี้มีอัตราส่วนทุนที่เข้มแข็งขึ้น มีงบดุลที่แข็งแกร่งมาก
ในสหรัฐฯ ราคาหุ้นของสถาบันการเงินต่างปรับตัวลดลงในวันพุธตอบรับเหตุวุ่นวายทางการเงินของยุโรป
โฆษกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่า กำลังจับตามองสถานการณ์ของธนาคารเครดิตสวิสอย่างใกล้ชิด และได้ติดต่อไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เตรียมรับมือ ขณะที่ดัชนีหุ้นในสหรัฐฯ ผันผวนอย่างหนักตลอดสัปดาห์นี้ หลังจากเหตุการณ์ธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ (SVB) ล้มลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และเกิดความกังวลว่าธนาคารในยุโรปอาจล้มตามมา
เมื่อวานนี้ บริษัท มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) ประกาศปรับลดความน่าเชื่อถือของระบบธนาคารสหรัฐฯ จาก “มีเสถียรภาพ” เป็น “เชิงลบ” จากกรณีที่ผู้ฝากเงินในสหรัฐฯ แห่ถอนเงินออกจากธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ ธนาคารซิลเวอร์เกท แคปปิตอล และธนาคารซิกเนเจอร์ จนทำให้เกิดความกลัวว่า ระบบธนาคารของประเทศอาจกำลังมีปัญหาหนักอยู่ และทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นจากทั้งนักลงทุนและผู้ฝากเงินด้วย
- ที่มา: รอยเตอร์