ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาให้ความมั่นใจกับชาวอเมริกันในวันจันทร์ว่า ระบบธนาคารของสหรัฐฯ นั้นยังมีความมั่นคงอยู่ และจะได้รับเงินที่ฝากไว้กับธนาคารสองแห่งที่ล้มครืนกลับคืนมา ขณะที่ ประชาชนผู้เสียภาษีจะไม่ต้องมาช่วยนักลงทุนที่ประสบภาวะเงินลงทุนหดหายจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาด้วย
ปธน.ไบเดน กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า “ประเด็นแรก ลูกค้าทุกคนที่มีเงินฝากไว้กับธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley Bank – SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) สามารถมั่นใจได้ว่า ทุกคนจะได้รับการคุ้มครองและจะเข้าถึงเงินของตนตั้งแต่วันนี้เลย ... โดยจะไม่มีกรณีเงินสูญ และจะไม่มีการนำเงินภาษีของประชาชนมาดูแลปัญหานี้ ... ประเด็นที่สอง ทีมผู้บริหารของธนาคารเหล่านี้จะถูกไล่ออกจากงาน ... ประเด็นที่สาม นักลงทุนในธนาคาร(ทั้งสองแห่ง) จะไม่ได้รับการคุ้มครอง พวกเขารับความเสี่ยงโดยรู้อยู่แล้ว และเมื่อความเสี่ยงเกิดขึ้นจริง นักลงทุนก็เสียเงินของตน(ไปโดยปริยาย)”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ต้นตอของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเพียงว่า จะต้องมีการสืบสาวให้ถึงที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับธนาคารทั้งสองแห่งนี้
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวว่า ธนาคารสองแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูง ซึ่งทำให้มูลค่าทางตลาดของสินทรัพย์ของทั้งคู่ ซึ่งรวมถึง หุ้นกู้และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันหดหายไป
โดยปกติแล้ว ธนาคารจะไม่ได้สูญเสียเงินของตนถ้าถือครองตราสารหนี้ไว้จนถึงวันสิ้นอายุ แต่ถ้าถูกบีบให้ต้องไถ่ถอนก่อนเวลาเพื่อนำเงินมาเติมส่วนที่ผู้ฝากเงินแห่ถอนออกไป ดังที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตัวเลขการสูญเงินนั้นสามารถพุ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) รายงานว่า ณ สิ้นปีที่แล้ว ธนาคารสหรัฐฯ มีภาวะขาดทุนที่เกี่ยวข้องกับการถือครองตราสารหนี้ต่าง ๆ รวมกันราว 620,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
FDIC เปิดเผยในวันจันทร์ด้วยว่า ได้มีการโอนเงินฝากทั้งหมดของธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ไปยังธนาคารอีกแห่งที่มีชื่อเรียกว่า bridge bank ซึ่งมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่บรรษัทฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหมดจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ
นอกจากนั้น ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (Bank of England) ประกาศในวันจันทร์ด้วยว่า ตนได้ขายธนาคารในเครือของ SVB ในอังกฤษให้กับธนาคาร HSBC เพื่อให้ธุรกิจธนาคารดังกล่าวมีเสถียรภาพ
แถลงการณ์ของธนาคารกลางอังกฤษระบุด้วยว่า เงินฝากทั้งหมดของธนาคารดังกล่าวยังอยู่ครบปลอดภัยดี และธนาคารซิลิคอนแวลลีย์สาขาอังกฤษจะยังคงเปิดทำการต่อไปตามปกติ
เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังการล้มครืนของ SVB เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลกิจการของสหรัฐฯ เข้ายึดสินทรัพย์ของสถาบันการเงินแห่งนี้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานภาพทางการเงินของตัวธนาคารที่อาจทำให้ผู้ฝากเงินตื่นตระหนกและแห่ไปถอนเงินออกพร้อม ๆ กัน
ด้วยขนาดสินทรัพย์ราว 200,000 ล้านดอลลาร์ SVB จึงได้ชื่อว่าเป็น ธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองที่ล้มลง โดยสถาบันการเงินแห่งนี้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่บริษัทธุรกิจร่วมทุนต่างๆ โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ธนาคารซิกเนเจอร์ที่ประสบชะตากรรมเดียวกันก็มีการทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสัดส่วนที่สูง ซึ่งรวมความถึงสกุลเงินคริปโตด้วย โดยภาวะล้มเหลวของธนาคารแห่งนี้ที่มีสินทรัพย์กว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ถูกบันทึกว่าเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ล้มลง ตามหลัง ธนาคารวอชิงตัน มิวชวล (Washington Mutual) และ SVB
- ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์