ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตาผลประโยชน์ 'ธุรกิจค้าอาวุธ' กับท่าทีของรัฐบาลยุโรปต่อการหายตัวไปของนักข่าวซาอุฯ


Activists from Avaaz stage a protest timed to coincide with the visit by Saudi Arabia's Crown Prince Mohammad bin Salman outside the Houses of Parliament in London, Britain, March 7, 2018.
Activists from Avaaz stage a protest timed to coincide with the visit by Saudi Arabia's Crown Prince Mohammad bin Salman outside the Houses of Parliament in London, Britain, March 7, 2018.

หลังจากที่สหรัฐฯ แสดงปฏิกิริยาเรื่องการหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำของนักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียรายหนึ่ง ขณะนี้รัฐบาลยุโรปหลายประเทศแสดงท่าทีเกี่ยวเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน

เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ประเทศในยุโรปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับซาอุดิอาระเบียโดยเฉพาะเรื่องการค้าอาวุธ และพยายามหาจุดสมดุลในการวางตัว

สื่อรายงานว่าราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียอาจจะอยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของ นายจามาล คาชอกกี (Jamal Khashoggi) ผู้มีสัญชาติซาอุฯ และเขายังเป็นผู้วิจารณ์มกุฎราชกุมาร โมฮัมมัด บิน ซัลมาน ผ่านบทความของเขาในหนังสือพิมพ์ Washington Post บ่อยครั้ง

ตำรวจตุรกีเชื่อว่า นายคาชอกกีถูกกลุ่มบุคคลชาวซาอุฯ สังหารภายในสถานกงสุลที่นครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม จากนั้นศพของเขาถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ก่อนถูกนำออกจากสถานกงสุล

แต่ทางการซาอุฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างแข็งขัน

ขณะที่ตอนนี้ไม่มีใครทราบว่านายคาชอกกีปลอดภัยหรือไม่ และอยู่ที่ใด เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากพรรครัฐบาลของเยอรมนี นาย Juergen Hardt กล่าวว่า สหภาพยุโรปอาจจะต้องปรับนโยบายที่มีกับซาอุดิอาระเบีย หลังข่าวความเป็นไปได้ว่านายคาชอกกีถูกฆ่าโดยมือสังหารชาวซาอุฯ

อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่ายังไม่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลริยาดห์ เพียงพอ

กลุ่มอนุรักษ์นิยมและพรรคฝ่ายค้านในยุโรป กล่าวว่า ถ้อยแถลงของนาย Hardt ไม่ได้พูดถึงมาตรการลงโทษต่อซาอุดิอาระเบีย และในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันอาทิตย์ ของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ไม่มีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการลงโทษต่อรัฐบาลริยาดห์

รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ Jeremy Hunt กล่าวว่า อังกฤษจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมกับการหายตัวไปของนายคาชอกกี หากว่าราชวงศ์ซาอุฯ ถูกเปิดเผยว่าอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ แต่ รัฐมนตี Hunt ถูกวิจารณ์ว่าแสดงจุดยืนในประเด็นดังกล่าวล่าช้าเกินไปหลายวัน

ทั้งนี้ซาอุดิอาระเบียเป็นลูกค้ารายใหญ่ของการส่งออกอาวุธของอังกฤษ โดยครึ่งหนึ่งของอาวุธจากอังกฤษมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย ช่วงปี ค.ศ. 2007 ถึง 2016

นอกจากนี้ ร้อยละ 23 ของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซาอุดิอาระเบียซื้อ เป็นสินค้าจากบริษัทอังกฤษ

และความซับซ้อนอีกประการหนึ่งต่อการแสดงจุดยืนของประเทศตะวันตกต่อการหายตัวไปของนายคาชอกกี คือท่าทีแข็งกร้าวของอเมริกาและประเทศในยุโรปต่อซาอุดิอาระเบีย อาจจะเปิดทางให้อิหร่านได้เปรียบ

นักวิเคราะห์ Sanam Vakil จาก Chatham House ของอังกฤษ กล่าวว่า ขณะนี้อิหร่านกำลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาการถูกมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ และพันธมิตร ดังนั้นข่าวการพัวพันของราชวงศ์ซาอุฯ ต่อการหายตัวไปของนายคาชอกกี จึงสร้างโอกาสให้รัฐบาลเตหะราน ในการปกป้องตนเองจากการถูกแปลกแยกโดยนานาชาติได้

เขากล่าวว่า รัฐบาลอิหร่านยังอาจสามารถใช้เหตุการณ์นี้ สร้างอิทธิพลได้มากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Jamie Dettmer จากกรุงลอนดอน)

XS
SM
MD
LG