รัฐสภายุโรปหรือ European Parliament เป็นสถาบันด้านนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป ซึ่งมีวาระการทำงาน 5 ปี โดยมาจากการเลือกตั้งของพลเมืองของประเทศสมาชิก 28 ประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และโดยปกติแล้วอัตราผู้มาใช้สิทธิ์อยู่ที่ราว 43%
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งปีนี้ พรรคการเมืองแนวทางชาตินิยม-ประชานิยมของยุโรปคาดว่าจะมีผู้มาออกเสียงเลือกตั้งกว่า 60% และพรรคการเมืองแนวทางขวาจัดมองว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ในความพยายามเพื่อชะลอการรวมตัวของสหภาพยุโรป เพื่อไม่ให้แต่ละประเทศสมาชิกต้องเสียอำนาจอธิปไตยจากการมองว่าองค์กรต่างๆ ของสหภาพยุโรปมีอำนาจตัดสินใจมากเกินไป
สำหรับพรรคการเมืองกระแสหลักของยุโรปเองนั้น ประเด็นหรือนโยบายหาเสียงหลักมักจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ-สังคม แต่พรรคแนวทางชาตินิยม-ประชานิยมที่ก่อตัวขึ้นใหม่ในช่วงหลังนี้ มักให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสังคม-วัฒนธรรมมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องอัตลักษณ์ตัวตนของชาติ อันเนื่องมาจากกระแสต่อต้านผู้อพยพจากต่างถิ่น
ผลการสำรวจความคิดเห็นขณะนี้แสดงว่า พรรคแนวทางชาตินิยมได้รับความสนับสนุนมากขึ้นในหลายประเทศของยุโรป เช่น กว่าครึ่งของคนในอังกฤษเห็นว่าพรรคการเมืองกระแสหลักที่มีอยู่นั้นไม่เป็นตัวแทนของตนและต้องการความเปลี่ยนแปลง
และขณะที่ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างของผู้นำพรรคการเมืองแนวทางสายกลางที่สนับสนุนบทบาทความสำคัญของสหภาพยุโรป และต้องการให้มีการรวมตัวทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศสมาชิกมากขึ้นนั้น นาย Matteo Salvini รองนายกรัฐมนตรีอิตาลีแห่งพรรค Lega ก็เป็นตัวแทนของพรรคแนวทางขวาจัดซึ่งกำลังได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นเช่นกัน
คาดกันว่าพรรคแนวทางชาตินิยมของยุโรป โดยเฉพาะในอิตาลี โปแลนด์ ฮังการี และฝรั่งเศส อาจได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในรัฐสภายุโรปซึ่งมีที่นั่งรวม 750 ที่หลังการเลือกตั้งปลายเดือนพฤษภาคมนี้
และผลการหยั่งเสียงของบางสำนักก็คาดด้วยว่า พรรคแนวทางชาตินิยม-ประชานิยม ซึ่งต่อต้านบทบาทและอำนาจของสหภาพยุโรปนี้อาจได้ที่นั่งในรัฐสภายุโรปรวมกันประมาณหนึ่งในสาม ซึ่งถึงจะยังไม่มากพอที่จะขัดขวางนโยบายที่สำคัญของสหภาพยุโรปได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็จะเป็นโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีจุดยืนทางสังคมและวัฒนธรรมแตกต่างจากพรรคกระแสหลักเหล่านี้มีที่นั่งในคณะกรรมาธิการของรัฐสภายุโรป หรือทำให้กระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองของสมาชิกสหภาพยุโรปต้องล่าช้าลง
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองแนวทางชาตินิยมของยุโรปเองก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะถึงแม้จะมีความเห็นค่อนข้างตรงกันคือชิงชังระบบการเมืองแบบเก่าก็ตาม แต่ผู้นำพรรคการเมืองในแต่ละประเทศก็ยังไม่มีความเป็นเอกภาพและยังมีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันอยู่
และนั่นก็อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับพรรคการเมืองแนวทางสายกลางรวมทั้งสำหรับผู้ที่สนับสนุนการรวมตัวและการทำงานอย่างใกล้ชิดของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป เพราะปัญหายุ่งยากและกระบวนการ Brexit ที่ล่าช้าเป็นผลให้กระแสต่อต้านสหภาพยุโรปดูจะลดลง
โดยผลการสำรวจของ Pew Research Center ใน 10 ประเทศแสดงว่า ยังคงมีความสนับสนุนเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของสหภาพยุโรปอยู่ถึง 74% ในแง่การทำงานเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่ากว่าครึ่งของชาวยุโรปขณะนี้มองว่าองค์กรและการทำงานของสหภาพยุโรปยังขาดความเข้าใจในความต้องการของประชาชนโดยทั่วไปอย่างแท้จริง