สหภาพยุโรป ประกาศในวันพฤหัสบดีว่า ได้ลงนามสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) เพิ่มอีก 1,800 ล้านโดส โดยมีกำหนดรับวัคซีนปลายปีนี้จนถึงตลอดปีหน้า
ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เออร์ชูลา วอน เดอ เลเยน ทวีตคำแถลงเรื่องข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนล็อตใหม่จากไฟเซอร์ดังกล่าว โดยแบ่งเป็นการซื้อวัคซีนโควิดและเซรุ่มที่สามารถนำมาใช้กับโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์รวม 900 ล้านโดส และสามารถสั่งซื้อเพิ่มได้อีก 900 ล้านโดสหากต้องการ
จนถึงขณะนี้ อียูได้ลงนามซื้อวัคซีนโควิดไปแล้วเป็นจำนวน 2,600 ล้านโดส จาก 6 บริษัท ซึ่งภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ สมาชิกของสหภาพยุโรปยังสามารถบริจาควัคซีนส่วนเกินให้แก่โครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกได้ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประเทศรายได้ต่ำทั่วโลกได้ด้วย
ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศในสัปดาห์นี้ว่า จะเพิ่มจำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่บริจาคให้แก่ประเทศต่าง ๆ จาก 60 ล้านโดสเป็น 80 ล้านโดส ท่ามกลางคำถามว่า วัคซีนเหล่านั้นจะบริจาคให้แก่ประเทศไหนบ้าง?
เกย์ล สมิธ ผู้ประสานงานด้านการตอบสนองโควิด-19 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธว่า สหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับโครงการ COVAX เพื่อตัดสินใจว่าจะส่งมอบวัคซีนไปที่ไหน และจะแจกจ่ายอย่างไรโดยจะมีการประกาศการตัดสินใจดังกล่าวเร็ว ๆ นี้ พร้อมระบุว่าทวีปแอฟริกาคือพื้นที่ที่มีการเข้าถึงวัคซีนโควิดต่ำมากในขณะนี้
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของสหประชาชาติประเมินว่า ปัจจุบันมีการแจกจ่ายวัคซีนโควิดไปแล้วราว 1,400 ล้านเข็มทั่วโลก ในจำนวนนี้ไปถึงทวีปแอฟริกาไม่ถึง 2% คือประมาณ 24 ล้านโดสเท่านั้น
เกย์ล สมิธ เน้นย้ำว่า การแจกจ่ายวัคซีนของสหรัฐฯ นั้น ไม่ใช่ “การทูตผ่านวัคซีน” เหมือนประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น จีนและรัสเซีย กำลังทำอยู่ แต่เป็นการกระจายวัคซีนโดยพิจารณาจากความต้องการที่แท้จริงเป็นหลัก ภายใต้เป้าหมายในการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสให้ได้ โดยไม่มีนัยทางการเมืองหรือแรงกดดันอื่น ๆ แอบแฝง
ผู้ประสานงานด้านโควิด-19 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า การบริจาควัคซีนโควิดนี้จะควบคู่ไปกับการลงทุนสร้างศูนย์ผลิตวัคซีนในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อและการรักษาโควิด-19 ในประเทศเหล่านั้น