ลิ้งค์เชื่อมต่อ

"บินลัดฟ้ามาหาไฟเซอร์" - สัมภาษณ์คนไทยเดินทางมาฉีดวัคซีนที่สหรัฐฯ


Jakkrit Yompayorm flashes a smile in New York City's Central Park. (Photo by Janine Phakdeetham)
Jakkrit Yompayorm flashes a smile in New York City's Central Park. (Photo by Janine Phakdeetham)
Vaccine Tourism
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:21 0:00


การเดินทางด้วยวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในสหรัฐฯ กำลังได้รับความสนใจประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการหาหนทางต่างๆที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดยี่ห้ออื่น ที่ยังมาไม่ถึงประชาชนไทย ขณะที่ กระทรวงต่างประเทศของไทยออกคำเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

วีโอเอไทย ได้มีโอกาสพูดคุยกับติวเตอร์สอนภาษาไทยชื่อดัง หรือ “ครูทอม” จักรกฤต โยมพยอม ที่นครนิวยอร์ก ถึงการตัดสินใจบินลัดฟ้ามายังประเทศผู้ผลิตอย่างอเมริกาเพื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีการแจกจ่ายในประเทศไทย

จักรกฤต: “ตอนนี้นะครับ กำลังจะฉีดแล้วนะครับ อยู่ในห้องกับหมอเรียบร้อยแล้วนะครับ

เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน: “Are you ready? (คุณพร้อมรึยัง?)

จักรกฤต: “I’m so excited! (ครับ ตื่นเต้นมากเลย)”

เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน: “Here we go (อ่ะ เริ่มฉีดเลยนะครับ)

บทสนทนาดังกล่าวเกิดขึ้นที่จุดจ่ายวัคซีนที่รัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐฯ เมื่อตอนช่วงสายของวันที่ 7 พฤษภาคม หรือประมาณ 12 ชั่วโมงหลัง จักรกฤต เดินทางถึงประเทศสหรัฐอเมริกา

Jakkrit Yompayorm received his first dose of the Pfizer vaccine in Virginia. (By Jakkrit Yompayorm)
Jakkrit Yompayorm received his first dose of the Pfizer vaccine in Virginia. (By Jakkrit Yompayorm)

สหรัฐฯ ถือเป็นชาติผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสชั้นนำของโลกและชาวอเมริกันเกือบครึ่งประเทศก็ได้รับวัคซีนกันไปแล้ว ดังนั้น บางรัฐในอเมริกาจึงมีการผ่อนมาตรการและอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในรัฐนั้นๆสามารถรับวัคซีนได้ จักรกฤตจึงรีบคว้าโอกาสและเดินทางเข้าอเมริกาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว

“ตัดสินใจปุบปับเหมือนกันครับ เพราะว่าซื้อตั๋วเครื่องบินก่อนมานี่เลยครับประมาณ 4-5 วันเท่านั้นเองนะครับ แล้วก็พอซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วก็หาข้อมูลเพิ่มเติมครับว่า เราสามารถเช็คได้ที่ไหนบ้าง...คือว่าผมเองเนี่ยต้องการมาเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์อยู่แล้วด้วย แล้วก็อย่างนี้ก็คือ...เราเองก็มั่นใจในประสิทธิภาพและคุณภาพของวัคซีนไฟเซอร์ในอเมริกันมากกว่าครับ ก็เลยตัดสินใจมาที่นี่และก็มาฉีดวัคซีน

วัคซีนในประเทศไทย

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทยมีสองยี่ห้อหลัก คือ ซิโนแวคจากประเทศจีน และแอสตราเซนเนกาจากสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า ภายในเวลาสิบวันแรก ยอดผู้ขอรับวัคซีนผ่านแอปพลิคเคชั่น “หมอพร้อม” มี 1.6 ล้านคนหรือประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของกลุ่มอายุผู้อยู่ในเกณฑ์สามารถลงทะเบียนได้ ณ ขณะนี้

จักรกฤตพูดว่าตัวเขาเองไม่มั่นใจกับคุณภาพของวัคซีน “อย่างผมเองคุยกับเพื่อนที่เป็นหมอ ซึ่งเขาก็บอกว่าฉีดวัคซีนเนี่ย อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ฉีดเพราะว่ามันก็ช่วยทุเลาอาการหลายอย่างได้จากการที่เราอาจจะติดเชื้อโควิค แต่ว่าอย่างที่เห็นนะครับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยนะครับคนที่ฉีดวัคซีนเข้าไปแล้วแล้วมีอาการข้างเคียง...ก็มีคนอีกมากมายครับที่เรียกร้องให้ทางภาครัฐในการจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่าง ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นาครับ ให้เขาเข้ามาฉีด

FILE - Vials labelled 'COVID-19 Coronavirus Vaccine' and a syringe are seen in front of the Pfizer logo in this illustration taken Feb. 9, 2021.
FILE - Vials labelled 'COVID-19 Coronavirus Vaccine' and a syringe are seen in front of the Pfizer logo in this illustration taken Feb. 9, 2021.

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย จักรกฤตเปิดเผยกับวีโอเอว่าใช้เงินเกือบหกหลักในการเดินทางมาที่สหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีนในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย “โดยรวมเนี่ยนะครับเพราะว่าน่าจะเกือบๆแสน...เวลากลับไทยไปเนี่ยต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับโรงแรมที่เราต้องกักตัวด้วยอันนี้เนี่ยก็ประมาณ 30,000 บาทนะครับ รวมค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับก็ประมาณเกือบ 6 หมื่นบาทแหละ แล้วก็ค่ากินอยู่ ค่าเดินทางในนี้อีกนะครับ ก็อาจจะประมาณ 20,000 บาทนะครับ หรือประมาณ 2 ถึง 3 หมื่นถ้าช้อปปิ้ง แล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 ถึง 9 หมื่น โชคดีตรงที่ว่ามีบ้านเพื่อนอยู่แล้วด้วยทำให้ประหยัดค่าที่พักไปได้ครับ รวมๆก็ประมาณเกือบแสน”

ระเบียบการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน

สำหรับการจองคิวรับวัคซีน เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานการจัดสรรวัคซีนของรัฐเวอร์จิเนีย ดีนา พอตเตอร์ ยืนยันกับวีโอเอว่า รัฐเวอร์จิเนียไม่แนะนำให้คนนอกรัฐและนักท่องเที่ยวเดินทางมายังรัฐเวอร์จิเนียเพื่อรับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐไม่มีมาตรการให้ศูนย์จ่ายวัคซีนตรวจสอบหลักฐานว่าผู้ที่จะมาฉีดวัคซีนนั้นอาศัยอยู่ในเวอร์จิเนียจริง เพราะต้องการให้คนอเมริกันในทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น

ข้อควรคำนึงก่อนตัดสินใจเดินทางมาสหรัฐฯเพื่อรับวัคซีน

โฆษกกระทรวงต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ ได้เตือนคนไทยที่คิดจะเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีนถึงกฏของแต่ละรัฐ และ ความเสี่ยงหากล้มป่วยในต่างแดน

“ก็เริ่มมีผู้บริหารและหน่วยงานของรัฐ ในบางรัฐที่ออกมาตรการเพื่อป้องกัน Vaccine Tourism ก็มีนะครับ เช่น ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา หน่วยงานด้านสาธารณสุขของมลรัฐแอละบามาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะจัดสรรให้เฉพาะผู้ที่มีถิ่นพำนักในมลรัฐเท่านั้น อันนี้ก็แสดงให้เห็นนะครับ ว่าในแต่ละมลรัฐสามารถปรับเปลี่ยนมาตรการการฉีดแจกจ่ายวัคซีนตามที่เห็นเหมาะสมอย่างรวดเร็วตามสถานการณ์”

A health worker prepares a dose of the Sinovac COVID-19 vaccine for people who live in a popular market area where a new cluster of COVID-19 infections was found in Bangkok, Thailand, March 17, 2021.
A health worker prepares a dose of the Sinovac COVID-19 vaccine for people who live in a popular market area where a new cluster of COVID-19 infections was found in Bangkok, Thailand, March 17, 2021.

นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศยังชี้ถึงความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจจะตามจากวัคซีนและค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในอเมริกาที่มีราคาสูงกว่าประเทศไทยมาก

“วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสหรัฐฯ ก็เช่นเดียวกันกับทุกประเทศ ได้รับอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉิน ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรง ซึ่งบริษัทผู้ฉีดวัคซีนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ และ หากผู้เดินทางไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ก็อาจจำเป็นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจมีราคาสูงในสหรัฐฯ

และข้อมูลถึงการไม่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลหากล้มป่วยจากวัคซีนก็ได้รับการยืนยันจากจักรกฤตที่ซื้อประกันสุขภาพในการเดินทางเป็นประจำ

จักรกฤตบอกกับวีโอเอว่า “เช็คกับประกันครับ ก็ได้ข้อมูลมาว่าประกันสุขภาพจะไม่ Cover อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน นั่นแปลว่าการที่เรามาฉีดวัคซีนที่ประเทศอเมริกาเนี่ย เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงเองว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วเนี่ยเราต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด อันนี้ก็ฝากทุกคนที่คิดจะมาที่นี่ด้วยนะครับ”

(จณิน ภักดีธรรม ผู้สื่อข่าว วีโอเอไทย รายงานจากนครนิวยอร์ก)

XS
SM
MD
LG