หลังจากการเจรจายาวนานหลายเดือน อังกฤษบรรลุข้อตกลงด้านการค้ากับสหภาพยุโรปในวันพฤหัสบดี เจ็ดวันก่อนกำหนดการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นหนึ่งในการเปลียนแปลงด้านนโยบายครั้งใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร
มิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรป กล่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีว่า 'นาฬิกาจับเวลาเบร็กซิต ได้หยุดเดินแล้วอย่างเป็นทางการ' หลังจากที่ข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป หรือ EU ผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนการเจรจาของทั้งสองฝ่ายในวันพฤหัสบดี ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เออร์ชูลา วอน เดอ เลเยน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การเจรจาที่ผ่านมาถือเป็นหนทางที่ยาวไกลและเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สามารถจัดทำแนวทางที่ดี ยุติธรรมและสมดุลขึ้นมาได้ ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องและแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบจากทั้งสองฝ่าย
ด้านนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ทวีตภาพของตนเองชูนิ้วโป้งทั้งสองข้างภายในทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่ถนนดาวน์นิง กรุงลอนดอน พร้อมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า แม้ใคร ๆ ต่างบอกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ในที่สุดอังกฤษก็สามารถกลับมามีอำนาจกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อีกครั้ง
ผู้นำอังกฤษ ระบุว่า "อังกฤษจะเป็นรัฐอิสระที่สามารถตัดสินได้เองว่าจะกระตุ้นการจ้างงานอย่างไร ที่ไหน"
อังกฤษแยกตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มกราคมปีนี้ แต่ยังคงอยู่ภายใต้ช่วงการเปลี่ยนผ่านซึ่งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ด้านการค้า การเดินทาง และการทำธุรกิจยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งวันที่ 31 ธันวาคมนี้
ก่อนหน้านี้มีเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ หนึ่งคือสิทธิของชาวยุโรปในการทำประมงในเขตน่านน้ำของอังกฤษ สองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ สามคือการจัดการข้อพิพาทระหว่างสหภาพยุโรปกับอังกฤษตามกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ รายละเอียดของข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ระหว่างอังกฤษกับอียูยังคงไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่คาดว่าทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการกำจัดกำแพงภาษีสินค้าต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การค้าขายข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างสะดวก การกำหนดกฎเกณฑ์ด้านการทำประมงของอียูในน่านน้ำของอังกฤษ และการสนับสนุนสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เช่นกัน
และยังสามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เรียกว่า No-deal Brexit ซึ่งหมายถึงการแยกตัวโดยไม่มีข้อตกลงที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะของอังกฤษเอง
นักวิเคราะห์เชื่อว่า สิ่งที่อียูต้องการคือการที่อังกฤษใช้นโยบายการค้าที่เป็นธรรมกับประเทศสมาชิกในอียู แลกกับการที่อังกฤษยังสามารถเข้าถึงตลาดของอียูซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 460 ล้านคน โดยเฉพาะตลาดการเงินที่มีกรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลาง
อย่างไรก็ตาม แม้ความตกลงครั้งนี้สามารถผ่านไปได้ด้วยดี แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าหลังวันที่ 1 มกราคมนี้จะยังเกิดความขลุกขลักหลายประการเมื่ออังกฤษสิ้นสุดสถานภาพสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อผสานประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่แตกสลายเป็นเสี่ยง ๆ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ตัวอย่างของความขลุกขลักที่ว่านี้ คือกระบวนการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือต่าง ๆ การตรวจสอบสินค้าส่งออก ตลาดจนการรับรองความปลอดภัยของสินค้าประเภทอาหาร เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งชาติของอังกฤษระบุว่า แม้จะมีข้อตกลงการค้าฉบับใหม่เกิดขึ้น แต่มูลค่าจีดีพีของอังกฤษในไตรมาสแรกของปีหน้าจะลดลงอย่างน้อย 1% จากการแยกตัวครั้งนี้ และขนาดเศรษฐกิจโดยรวมของอังกฤษอาจหดตัวลงราว 4% ตลอดช่วง 15 ปีข้างหน้า ประกอบกับผลกระทบในระยะยาวที่เป็นผลจากการระบาดของโคโรนาไวรัส
และเมื่อหมดแรงหนุนจากสหภาพยุโรป นั่นหมายความว่าอังกฤษอาจต้องหันหน้าพึ่งประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ในการต่อรองกับประเทศอื่น เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย อย่างน้อยก็ในระยะสั้น
ในตอนที่ชาวอังกฤษลงประชามติให้แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 2016 บรรดาผู้นำยุโรปต่างมองว่าอังกฤษจะยังคงมีความใกล้ชิดกับอียูต่อไปทางใดทางหนึ่ง แต่ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อผู้นำอังกฤษไม่ต้องการยอมรับการอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใดของอียูอีกต่อไป ไม่จะเป็นแนวคิด "ตลาดเดี่ยว" หรือ "สหภาพศุลกากร" ก็ตาม
โดยประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปถึงกับใช้คำว่า "sweet sorrow" หรือ "ความระทมที่แสนหวาน" สำหรับการแยกตัวอย่างสมบูรณ์ครั้งนี้