เครื่องบินของสายการบิน เอธิโอเปียน แอร์ไลน์ ตกบริเวณเมืองบิชอฟทู ของเอธิโอเปีย ไม่นานหลังบินออกจากสนามบินกรุงแอดดีส อบาบา ของเอธิโอเปีย พร้อมผู้โดยสารและพนักงานบนเครื่องรวม 157 คน ขณะกำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงไนโรบี ของเคนย่า
รายงานจากสำนักข่าวในเอธิโอเปีย ระบุว่า ผู้โดยสารบนเครื่องลำนั้นมาจาก 33 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นชาวเคนย่า 32 คน ชาวแคนาดา 18 คน ชาวเอธิโอเปีย 9 คน และชาวอเมริกัน 8 คน ซึ่งเชื่อว่าไม่มีผู้ใดรอดชีวิต
นอกจากนี้ บนเครื่องลำนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติโดยสารไปด้วยจำนวนหนึ่ง โดยโฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ มีแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อผู้ที่สูญเสียจากโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ รวมทั้งต่อประชาชนและรัฐบาลเอธิโอเปีย
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า สหประชาชาติกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลเอธิโอเปีย เพื่อตรวจสอบข้อมูลของเจ้าหน้าที่ยูเอ็นที่เสียชีวิต
ด้านนายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย อเบีย อาเหม็ด มีแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ว่า "สำนักงานนายก รมต.เอธิโอเปีย ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลและประชาชนเอธิโอเปีย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตบนเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของ เอธิโอเปียน แอร์ไลน์ เที่ยวบินจากกรุงแอดดีส อบาบา ไปยังกรุงไนโรบี เคนย่า"
ทางเอธิโอเปียน แอร์ไลน์ ระบุว่า ได้สูญเสียการติดต่อกับนักบินของเที่ยวบินนี้ เพียง 6 นาทีหลังจากที่เครื่องบินออกจากสนามบินระหว่างประเทศ Bole เมื่อเวลา 8:38 น. ตามเวลาท้องถิ่น
สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 737- MAX 8 นี้ถือเป็นเครื่องบินรุ่นปรับปรุงใหม่ ซึ่งทางสายการบินเพิ่งได้รับมอบมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตามข้อมูลขององค์กรสำรวจด้านการบินพลเรือน Planespotters
โฆษกของ เอธิโอเปียน แอร์ไลน์ กล่าวกับ VOA ว่า "เครื่องบินเป็นลำใหม่ นักบินก็เป็นผู้มีประสบการณ์สูง" ซึ่งทางสายการบินกำลังตรวจสอบถึงสาเหตุของการตกครั้งนี้ ส่วนรายงานเกี่ยวกับสาเหตุต่างๆ ที่สื่อมวลชนพากันนำเสนอออกมานั้นล้วนเป็น "ข่าวลือ"
ทางด้านบริษัทโบอิ้งมีแถลงการณ์ในวันอาทิตย์เช่นกันว่า "ทางบริษัทรับทราบรายงานอุบัติเหตุที่เกิดกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 แล้ว และกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"
เครื่องบินโบอิ้ง 737- MAX 8 นี้ ถือเป็นรุ่นเดียวกับเครื่องบินของสายการบินไลออนแอร์ ของอินโดนีเซีย ที่ตกในทะเลชวาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากขึ้นบินเพียงไม่กี่นาที ทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 189 คน
ผู้ตรวจสอบเหตุการณ์เครื่องบินไลออนแอร์ตก เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้ในกล่องดำ ระบุว่า ระบบความปลอดภัยอัตโนมัติของเครื่องบินลำนั้นทำงานผิดพลาด ด้วยการสั่งให้เครื่องบินปักหัวลงตลอดเวลา แม้ว่านักบินได้พยายามอย่างยิ่งที่จะยกเลิกระบบอัตโนมัตินั้นเพื่อสามารถควบคุมเครื่องบินได้เอง แต่ก็ไม่เป็นผล
รายงานดังกล่าวเชื่อว่า ระบบอัตโนมัติของเครื่องบินรุ่นใหม่ของโบอิ้งซึ่งทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เครื่องบินไต่ระดับสูงเกินไป อาจรับข้อมูลที่ผิดพลาดจากเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่กับส่วนลำตัวของเครื่องบิน