เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราไปทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัย Liberal Arts ซึ่งไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่สอนเฉพาะนักศึกษาสายศิลป์เท่านั้น แต่ที่จริงคือสถาบันที่เปิดให้ผู้เรียนค้นหาตนเองได้อย่างเสรี การเปิดกว้างดังกล่าวทำให้นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงจากประเทศไทยคนหนึ่งตัดสินใจมาเรียนที่ Swarthmore College ใกล้นครฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็น Liberal Arts College อันดับ 3 ของอเมริกา ตามรายงานของ U.S. World & News Report ปีล่าสุด
ชนุตม์ ศิริโสภณศิลป์ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ของ Swarthmore College กับเกรดเฉลี่ย 3.97 และในช่วงฤดูร้อนนี้ เธอได้ฝึกงานที่บริษัทการเงินแห่งหนึ่งที่นครนิวยอร์กด้วย
เธอกำลังฝึกงานอยู่ที่บริษัท Kiski Group ที่ใช้ข้อมูลสถิติในการวางยุทธศาสตร์การลงทุน บนเกาะแมนฮัตตันศูนย์กลางการเงินโลก แต่ก่อนที่เธอจะหันมาสนใจการวิเคราะห์ตัวเลข นักศึกษาไทยผู้นี้ตั้งใจที่จะเป็นครู
ชนุตม์ กล่าวว่า Swarthmore ให้โอกาสเธอเข้าใจถึงงานสายอาชีพครูได้ดีขึ้นตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และเมื่อเธอพบว่าเส้นทางนี้อาจไม่ใช่จุดหมายที่ตรงกับปัจจัยรอบตัวของเธอ ชนุตม์จึงขยายสาขาการเรียนรู้มาที่วิชาเศรษฐศาสตร์ โดยเน้นไปที่ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ หรือ ‘Behavioral Economics’ ซึ่งช่วยเปิดทางไปสู่การฝึกงานที่สถาบันการเงินในปัจจุบัน
อีกตัวอย่างหนึ่งของการเปิดเสรีให้นักศึกษาได้เรียนข้ามสาขาของ Liberal Arts College เห็นได้จากที่นักศึกษาไทยผู้นี้เรียนวิชาเอก ‘ภาษาจีน’ อีกแขนง ควบกับ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’
เกรดเกือบ 4.0 เต็ม ทำให้เธอเป็นนักเรียนแถวหน้าของ Swarthmore College และเป็นส่วนหนึ่งที่นำข่าวดีมาให้ชนุตม์ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงผู้นี้ได้รับรางวัลทรงเกียรติจาก Swarthmore College ที่มีชื่อทุนว่า Sarah Kaighn Cooper Scholarship ที่พิจารณาคุณสมบัติจาก “ประวัติที่ดีเลิศด้านการเรียน ลักษณะนิสัย และกิจกรรมที่มีอิทธิพล” ต่อชาว Swarthmore College
กิจกรรมที่น่าจะมีส่วนสำคัญให้ชนุตม์ได้รับทุนนี้ น่าจะเป็นงานในฐานะผู้นำโครงการที่ให้นักศึกษา Swarthmore และพนักงานทำความสะอาดของมหาวิทยาลัยได้มารู้จักกัน
ความก้าวหน้าของชนุตม์ ที่เริ่มตั้งแต่เด็กมัธยมปลายของโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง พร้อมโอกาสทำงานที่บริษัทการเงินที่นิยอร์ก และความสำเร็จที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งมาจากความเปิดกว้างทีจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ และมาหยุดขวนขวาย
และเมื่อทราบถึงความใฝ่รู้ใฝ่เรียนนี้ จึงไม่แปลกใจที่ชนุตม์บอกว่า หลังจบจาก Swarthmore ปีหน้า คิดว่าคงทำงานสัก 2-3 ปีด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ต่อจากนั้นเธออยากเข้ารั้วมหาวิทยาลัยอีกครั้งในฐานะนักเรียนปริญญาโทและเอก
(สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)