Dry January หรือมกราคมที่ไร้แอลกอฮอล์ เป็นแนวคิดของวงการสุขภาพที่พยายามส่งเสริมให้ผู้คนละเว้นเครื่องดื่มของมึนเมาในช่วงเดือนมกราคมหลังจากการเฉลิมฉลองเทศกาลปลายปีอย่างหนักมาแล้ว
โดยแนวคิดดังกล่าวเริ่มมาจากการรณรงค์ชื่อ Dry January หรือเดือนมกราที่ไร้แอลกอฮอล์ในอังกฤษเมื่อปี 2012 โดยนักวิ่งมาราธอนหญิงคนหนึ่งที่ตัดสินใจงดดื่มของมึนเมาเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากนั้นเธอก็ได้เริ่มงานกับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับแอลกอฮอล์แห่งหนึ่งชื่อ Alcohol Change UK ซึ่งได้ขยายผลเรื่องนี้สู่ระดับชาติและสู่ระดับโลกในที่สุด
จนมาในขณะนี้ Dry January ก็กลายเป็นปณิธานอย่างหนึ่งสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นใหม่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญการบำบัดการติดสุราจะบอกว่า การบังคับตัวเองให้ไม่แตะต้องของมึนเมาหรือ Dry เป็นเวลาเพียงหนึ่งเดือนนั้นอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในระยะยาว
และอาจทำให้ Dry January ต้องตามมาด้วย Heavy February เพื่อการเมาสุราหัวราน้ำเป็นการชดเชยได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็บอกว่าการงดเว้นสุราได้บ้างนั้นไม่เป็นผลเสียอะไรเลย
คุณ Hillary Sheinbaum ผู้เข้าร่วมในกิจกรรม Dry January คนหนึ่งซึ่งเขียนหนังสือชื่อ Dry Challenge จากประสบการณ์ส่วนตัวของเธอเอง บอกว่า เธอตั้งปณิธานเรื่องนี้ไว้ก่อนที่ลูกบอลต้อนรับปีใหม่จะหล่นลงมา และได้พบว่าผิวพรรณของเธอนั้นดีขึ้น การนอนหลับก็มีคุณภาพดีขึ้น แถมเธอยังเก็บเงินได้มากขึ้นด้วย ซึ่งตอนนี้คุณ Hillary ทำ Dry January ได้สำเร็จเป็นปีที่ห้าติดต่อกันแล้ว
ขณะที่ความเครียดจากโควิด-19 รวมทั้งการต้องติดอยู่กับบ้านโดยไม่มีอะไรทำและไม่มีที่ไปอาจเพิ่มโอกาสความกดดันให้ผู้คนหันมาดื่มสุรากันมากขึ้นนั้น แพทย์ก็เตือนว่า การศึกษาในช่วงหลังได้หักล้างความเชื่อเดิมที่ว่าการดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยอาจช่วยให้เรามีสุขภาพดีขึ้นได้ โดยขณะนี้วงการแพทย์เตือนว่าไม่มีหลักฐานใดซึ่งสนับสนุนความเชื่อดังกล่าวเลย
และว่าการดื่มสุราเป็นอาจิณ คือโดยเฉลี่ยมากกว่าห้าดริ้งค์ต่อสัปดาห์นั้นสามารถทำให้เราอายุสั้นลงได้หลายปีทีเดียว
นอกจากนั้น ในจำนวนแอลกอฮอล์ที่บริโภคเท่า ๆ กัน ความแตกต่างทางชีวภาพทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากเรื่องนี้มากกว่าผู้ชาย เพราะร่างกายของเพศหญิงนั้นดูดซึมแอลกอฮอล์ได้มากกว่าและใช้เวลานานกว่าในการย่อยสลายและกำจัดทิ้งไป
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ยังเตือนด้วยว่า แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งในช่องปาก มะเร็งในคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งทรวงอกสำหรับผู้หญิง รวมทั้งยังสร้างความเสี่ยงต่อโรคตับแข็งและสร้างความเสียหายต่อหัวใจกับสมองของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วย
ผลการวิจัยของ University of Sussex บอกว่า 71% ของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม Dry January หรือมกราที่สร่างเมา แม้จะเพียงแค่หนึ่งเดือน ได้พบว่าตัวเองนั้นนอนหลับได้ดีขึ้น 67% รู้สึกมีพลังวังชามากขึ้น 58% มีน้ำหนักลดลง และ 54% รายงานว่ามีผิวพรรณเปล่งปลั่งดีขึ้นด้วย
และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลดีพอที่จะช่วยให้บางคนเริ่มพิจารณาเรื่องเดือนมกราที่สร่างเมา หรืออาจจะเป็นเดือนกุมภาที่ไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งก็คงจะยังไม่สายเกินไป