ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ดาวเคราะห์น้อยและองศาปะทะโลก กับการสิ้นสุดของยุคไดโนเสาร์


Japan Asteroid
Japan Asteroid
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:12 0:00

การศึกษาล่าสุดโดยกลุ่มนักวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของการสิ้นสุดของยุคไดโนเสาร์ครองโลก ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยถึงปัจจัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งก็คือ มุมองศาของดาวเคราะห์น้อยที่ปะทะพื้นผิวโลก นั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า ดาวเคราะห์น้อยที่เป็นต้นตอของหายนะครั้งนั้น โคจรเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน และพุ่งเข้าชนพื้นผิวโลกที่ๆ ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ แหลมยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก โดยมีการประเมินว่าแรงปะทะครั้งนั้นน่าจะพอๆ กับแรงของระเบิดนิวเคลียร์หมื่นล้านลูกเลยทีเดียว

สิ่งที่ตามมาก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้สิ่งมีชีวิตกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสัตว์และพืช รวมทั้งไดโนเสาร์ที่ไม่มีปีก สูญสิ้นไปหลังจากนั้นไม่นาน

แต่สิ่งที่นักวิจัยสงสัยคือ ดาวเคราะห์น้อยที่ว่านี้ พุ่งเข้าปะทะกับผิวโลกในมุมตรงหรือไม่อย่างไร จึงทำการตรวจสอบข้อมูลจากแอ่งธรณีหรือหลุมอุกกาบาตที่มีขนาดความกว้าง 200 กิโลเมตรในเม็กซิโก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เหลือจากการปะทะของดาวเคราะห์น้อย

และหลังนักวิจัยทำการจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อน ทีมงานได้ข้อสรุปว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นพุ่งเข้าปะทะในมุมประมาณ 60 องศา กับพื้นผิวโลก ซึ่งเป็นมุมที่ทำให้เกิดแก๊สต่างๆ จำนวนมหาศาลที่พุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทันที

แกเร็ธ คอลลินส์ นักวิจัยจาก Imperial College London ของอังกฤษ และเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อราว 66 ล้านปีก่อนคือ สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้กับไดโนเสาร์” เพราะมุมปะทะของดาวเคราะห์น้อยเป็นมุมที่ก่อให้เกิดความหายนะที่ร้ายแรงที่สุดมุมหนึ่ง และทำให้แก๊สต่างๆ ถูกปล่อยออกมา ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากมาย จนถึงขั้นสูญพันธุ์

คอลลินส์ กล่าวด้วยว่า ถ้าหากดาวเคราะห์น้อยปะทะพื้นโลกในมุมที่ตั้งตรง หรือ ในองศาที่ต่ำกว่าที่เกิดขึ้น ความรุนแรงก็น่าจะไม่ร้ายแรงถึงระดับที่สิ่งมีชีวิตต้องดับสูญมากมายขนาดนั้น

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แก๊สและสารเคมีต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมาหลังดาวเคราะห์น้อยปะทะโลก ทำให้เกิดภาวะอากาศหนาวเย็นสุดขั้ว เปรียบได้กับสภาวะ “ฤดูหนาวนิวเคลียร์” ซึ่งเกิดจากการที่อนุภาคซัลเฟอร์จำนวนมากมายลอยอยู่ในอากาศ และ

ปิดกั้นความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่พื้นโลก ขณะที่เหตุการณ์ปะทะนั้นยังน่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าวงกว้าง แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิด้วย

ทีมงานวิจัยยังกล่าวด้วยว่า รายงานชิ้นล่าสุดนี้มีการจำลองเหตุการณ์ทั้งหมดครั้งแรกก่อนใคร ตั้งแต่ก่อนดาวเคราะห์น้อยพุ่งสู่พื้นโลก จนถึงการเกิดแอ่งธรณี ที่ช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจดีขึ้นว่า แองธรณีหรือหลุมอุกกาบาตต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรด้วย

และในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังเดินหน้าหาคำตอบว่า สิ่งมีชีวิตบางประเภทรอดชีวิตจากเหตุหายนะครั้งนั้นมาได้อย่างไร คอลลินส์ กล่าวว่าการวิจัยที่สำเร็จไปแล้วนั้น อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้ว ชีวิตบนโลกนี้สามารถอยู่รอดและฟื้นตัวจากสภาพการณ์อันเลวร้ายภายในเวลาอันไม่นานจริงๆ

XS
SM
MD
LG