บางคนอาจเคยได้ยินมาว่าทะเลทรายซาฮารา หรือ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศโมรอคโค เคยเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและพืชพันธุ์ต่างๆ
และการศึกษาล่าสุดโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สรุปรายละเอียดจากการวิจัยซากดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอซซิล จากหินชุดโบราณที่รู้จักกันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นกลุ่ม Kem Kem ซึ่งขุดพบจากบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลทรายซาฮารา ใกล้ชายแดนประเทศโมรอคโคและประเทศอัลจีเรีย ยืนยันเรื่องนี้อีกครั้ง ด้วยการค้นพบว่าเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อนหน้านี้ พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตนักล่าแสนดุร้ายจริงๆ
รายงานการค้นพบที่ตีพิมพ์ในวารสาร ZooKeys นี้ อ้างถึงกลุ่มหินชุด Kem Kem ที่ได้ชื่อว่าเป็นเหมือน “หน้าต่างสู่ยุคไดโนเสาร์ของแอฟริกา” ที่มีซากฟอซซิลของไดโนเสาร์นักล่าที่มีขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมถึง คาร์ชาโรดอนโทซอรัส (Carcharodontosaurus) ซึ่งเป็นหนึ่งในไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีฟันซึ่งมีลักษณะเหมือนใบเลื่อย และมีขนาดใหญ่โตได้ถึง 40 ฟุต หรือกว่า 12 เมตร เมื่อวัดจากหัวถึงปลายหาง รวมทั้ง เดลต้าโดรมีอุส (Deltadromeus) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ประเภทแรพเตอร์ตัวใหญ่ที่มีขาหลังเรียวยาว
นิซาร์ อิบราฮิม หัวหน้าทีมจัดทำรายงาน และนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยดีทรอยต์ เมอร์ซี ระบุในเอกสารแถลงการณ์ประกอบบทความว่า ทะเลทรายซาฮาราคือที่ๆ “อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก” และหากมีมนุษย์คนใดสามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปได้ ก็อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานจริงๆ
สำหรับผู้ที่รู้จักทะเลทรายซาฮาราว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งอย่างในปัจจุบัน นักวิจัยค้นพบว่า เมื่อกว่า 100 ล้านปีที่แล้ว พื้นที่ที่สัตว์ดุร้ายทั้งหลายเคยอาศัยอยู่นี้เคยเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ มีสภาพอากาศแบบเขตร้อนชื้น และเต็มไปด้วยสัตวน้ำและสัตว์บกจำนวนมหาศาล โดยสัตว์นักล่าสามารถจับปลาหลากหลายชนิดในน้ำได้อย่างไม่ยากเย็น
เดวิด มาร์ทิลล์ หนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรายงาน กล่าวว่า ปลาที่อยู่ในแม่น้ำบริเวณดังกล่าวมีขนาดใหญ่โตมาก เช่น ปลาซีลาแคนท์ (Coelacanth) ปลาดึกดำบรรพ์ที่น่าจะใหญ่กว่าขนาดราว 1-2 เมตรที่มีคนเคยจับได้ในยุคนี้ 4-5 เท่าเลยทีเดียว รวมทั้งปลาฉนากดึกดำบรรพ์ (Onchopristis) ที่มีขนาดยาวได้ถึงกว่า 8 เมตรซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน
นักวิจัยกล่าวว่า การศึกษาที่ผ่านมายังไม่เคยพบยุคใดที่มีระบบนิเวศน์บนผิวโลกที่มีสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากมายดังเช่นอดีตของทะเลทรายซาฮารามาก่อน ขณะที่การศึกษาหินชุดจากยุคนั้น ก็ไม่พบว่าน่าจะมีสัตว์กินพืชขนาดใหญ่อยู่เลย และสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่เป็นทั้งสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และดำรงชีวิตท่ามกลางทรัพยากรทางน้ำอันมากมายนั่นเอง