รายงานด้านสุขภาพในหนังสือพิมพ์ New York Times กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย McMaster ในรัฐ Ontario ประเทศแคนาดา ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักตัวโดยไม่ทำให้ร่างกายสูญเสียกล้ามเนื้อด้วยวิธีควบคุมอาหารควบกับการออกกำลังกาย
คนส่วนใหญ่พยายามลดน้ำหนักตัวด้วยการควบคุมอาหาร หรือลดแคลอรี่ประจำวัน ปัญหาก็คือหนึ่งในสามของน้ำหนักที่ลดลงจะเป็นกล้ามเนื้อ
เมื่อร่างกายสูญเสียกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นตัวทำงานเผาผลาญแคลอรี่ ร่างกายจะเผาผลาญแคลอรี่น้อยลงไปด้วย และอาจทำให้ร่างกายรู้สึกไม่กระฉับกระเฉง ไม่อยากเคลื่อนไหวออกกำลังกาย
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย McMaster แบ่งอาสาสมัครชายที่น้ำหนักตัวเกินขนาด 40 คนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 20 คน
ในด้านการควบคุมอาหาร ทั้งสองกลุ่มรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่น้อยลงวันละ 40% แต่ส่วนประกอบของอาหารที่รับประทานต่างกัน กลุ่มหนึ่งรับประทานอาหารที่มีโปรทีน 15% ไขมัน 35% และคาร์โบไฮเดรต 50% อีกกลุ่มหนึ่งสลับสัดส่วนระหว่างโปรทีนกับไขมัน
นักวิทยาศาสตร์ให้กลุ่มที่รับประทานอาหารโปรทีนต่ำ ดื่มนมไขมันสูง แต่ไม่เสริมโปรทีน อีกกลุ่มหนึ่งดื่มนมไขมันต่ำแต่เสริมโปรทีนจากหางนม
ทางด้านการออกกำลังกาย ทั้งสองกลุ่มออกกำลังกายอย่างเข้ม รวมทั้งการยกน้ำหนักสัปดาห์ละหกวัน
การทดลองดำเนินไปเป็นเวลาสี่สัปดาห์ และผลปรากฏว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มลดน้ำหนักตัวลงได้ระหว่าง 11-12 ปอนด์ แต่ส่วนประกอบของน้ำหนักตัวเปลี่ยนไป อาสาสมัครในกลุ่มอาหารโปรทีนสูง มีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นประมาณสามปอนด์ ซึ่งหมายความว่าสำหรับกลุ่มนี้ น้ำหนักตัวที่ลดลงเป็นไขมันทั้งหมด
ดร. Stuart Phillips หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า ผลที่ได้ชี้แนะอย่างแข็งขันว่า ควรรับประทานอาหารที่มีโปรทีนเพิ่มขึ้น ในขณะที่พยายามลดน้ำหนักตัวเพื่อไม่ให้ร่างกายสูญเสียกล้ามเนื้อ
แต่ส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการยกน้ำหนัก ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้ร่างกาย
ทีมงานนี้จะดำเนินการทดลองอย่างเดียวกันกับอาสาสมัครหญิงด้วย รวมทั้งปรับส่วนประกอบอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่าโปรทีนที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไขมันที่ลดลง เป็นตัวเพิ่มกล้ามเนื้อจริง
รายงานการวิจัยนี้ตีพิมพ์ไว้ใน The American Journal of Clinical Nutrition