องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีคน 422 ล้านคนทั่วโลกเป็นเบาหวาน และถือกันว่าการติดตามวัดปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นวิธีดีที่สุดสำหรับการควบคุมอาการของโรคเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น ตาพิการ ไตวาย โรคหัวใจ และการตัดแขนขา
เพราะฉะนั้น การติดตามวัดปริมาณน้ำตาลในเลือดจึงจะต้องมีความแม่นยำถูกต้อง แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า ราวๆ หนึ่งในสามของมูลค่าการวัดนั้นไม่ถูกต้อง
แต่เวลานี้มีนักวิทยาศาสตร์ออกมากล่าวว่าหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ได้แล้ว !!
การวัดน้ำตาลกลูโคสในเลือดของผู้ที่เป็นเบาหวาน เรียกว่า A1C ซึ่งให้ระดับน้ำตาลในเลือดย้อนกลับไปสามเดือน ถือว่าถูกต้องดีกว่าการวัดทุกวัน เพราะค่าที่ได้จากการวัดทุกวันอาจแตกต่างกันในแต่ละนาที
น้ำตาลในเลือดที่ A1C วัดนี้เป็นเลือดที่เซลล์โลหิตแดงซึมซับไว้ แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบตัวเลขที่ได้จาก A1C กับการวัดเป็นประจำทุกวัน ก็พบว่ามีความแตกต่าง สืบเนื่องมาจากอายุของเซลล์โลหิตแดง ซึ่งโดยเฉลี่ยมีอายุราวๆ 45 วัน แต่ในคนบางคนมีอายุได้นานกว่านั้น
ศาสตราจารย์ John Higgins ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด อธิบายโดยยกตัวอย่างฟองน้ำมาเปรียบเทียบว่า ให้นึกถึงฟองน้ำที่วางทิ้งไว้บนเคาน์เตอร์ ยิ่งมีน้ำบนเคาน์เตอร์มาก ฟองน้ำก็ดูดซับมาก และถ้าทิ้งไว้นาน ก็จะดูดซับมากขึ้นตามไปด้วย
ความหมายก็คือ ระดับ A1C ของบุคคลที่ดูจะอยู่ในการควบคุมเป็นอย่างดีเมื่อวัดทุกวัน แต่จริงๆ แล้วอาจเพิ่มสูงขึ้นถ้าเซลล์โลหิตแดงของคนๆ นั้นมีอายุสูงกว่า และในทางกลับกันก็เป็นจริงด้วย
ศาสตราจารย์ Higgins บอกว่า ถ้าคนบางคนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก แต่เซลล์โลหิตแดงอายุค่อนข้างน้อย ก็อาจจะดูว่าคนๆ นั้นไม่มีปัญหา ในขณะที่ตามความเป็นจริงแล้ว มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ศาสตราจารย์ John Higgins บอกว่ามีวิธีแก้ไขความแตกต่างนี้ได้ โดยให้บุคคลผู้นั้นสวมอุปกรณ์วัดน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสั้นๆ
อุปกรณ์ดังกล่าวมีเข็มที่สอดเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อวัดค่าน้ำตาลกลูโคสทุกๆ ห้านาที นักวิทยาศาสตร์จะนำค่าวัดดังกล่าวซึ่งจะมีหลายร้อย ไปเปรียบเทียบกับค่าที่ได้จากการทดสอบ A1C และห้องปฏิบัติการทดลองจะเป็นผู้ปรับค่าน้ำตาลในเลือดให้ได้อย่างถาวร
ผลที่ได้คือค่าวัดน้ำตาลกลูโคสในเลือดของผู้เป็นเบาหวานอย่างแม่นยำ สำหรับบุคคลผู้นั้นโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคเป็นอย่างมาก
(รายงานผลการศึกษาทดลองในเรื่องนี้ ตีพิมพ์ไว้แล้วในวารสาร Science Translational Medicine)