ในเวลานี้บรรดานักออกแบบทั่วโลกต่างเริ่มหันมาใช้วัสดุที่แตกต่างจากที่นิยมใช้ตามปกติในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เช่น การนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว ไม้ เส้นใยพืช หรือแม้แต่สาหร่ายมาใช้แทนวัสดุดั้งเดิมสำหรับการผลิตของใช้ในครัวเรือนและเสื้อผ้า
หนึ่งในกลุ่มนักออกแบบที่เริ่มมาใส่ใจเรื่องการใช้วัสดุเหลือใช้ คือ นิน่า เอ็ดเวิร์ด แองเคอร์ (Nina Edwards Anker) ซึ่งออกแบบเชิงเทียนและโคมระย้าที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกระดาษโบราณที่วางอยู่รอบ ๆ หลอดไฟอิเล็กทรอนิกส์หรือ LED แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ จะเห็นว่าพวกมันทำมาจากสาหร่าย
แองเคอร์ได้แนวคิดนี้ขึ้นมาในขณะที่กำลังทำงานในโครงการวิจัยสำหรับการศึกษาปริญญาเอกที่ Oslo School of Architecture and Design โดยเลือกที่จะไม่ปิดบังวัสดุที่เป็นสาหร่ายแห้งเพราะต้องการที่จะเก็บความสมบูรณ์ของวัสดุนี้ไว้ และแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติเฉพาะของมัน
แองเคอร์เป็นหนึ่งในนักออกแบบหลาย ๆ คนที่คำนึงถึงวัสดุต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในงานออกแบบ และต้องการหาวิธีผสมผสานแนวคิดในการออกแบบเข้ากับวิธีการผลิตและการจัดหาวัสดุที่จะไม่ส่งผลให้ทรัพยากรต้องหมดไป
ที่งานแสดงสินค้านานาชาติด้านสิ่งทอใหม่ ไฮม์เท็กซ์ทิล (Heimtextil) ในแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ในปีนี้ ผู้จัดงานได้ให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มาจากวัสดุที่ใช้แล้วอย่างเห็นได้ชัด
โอลาฟ ชมิดท์ (Olaf Schmidt) รองประธานฝ่ายสิ่งทอและเทคโนโลยีสิ่งทอของ Heimtextil กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่า มีบริษัทต่าง ๆ มากมายที่สาธิตวิธีที่สามารถนำวัสดุอนินทรีย์ เช่น ไนลอน พลาสติก และโลหะกลับมาใช้ใหม่ได้ ตัวอย่างเช่น พรมแบบแผ่นที่สามารถรื้อถอนเมื่อหมดอายุการใช้งานและนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตใหม่อีกครั้งได้”
ชมิดท์ กล่าวเสริมว่า “ยังมีสาหร่ายทะเลที่ใช้ผลิตแผ่นยางซับเสียงและแผ่นผนังที่เป็นฉนวนบุผนังที่ดีเยี่ยม ทั้งยังสามารถทนไฟและควบคุมความชื้นได้ดี และเมื่อวัสดุเหล่านี้หมดอายุการใช้งานแล้ว ก็สามารถนำแผ่นผนังมาฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและนำกลับมาใช้ใหม่ได้”
เวอโรนิกา ลิพาร์ (Veronika Lipar) ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมนี้ ว่า เป็นการก้าวไปสู่ความยั่งยืน โดยเธอกล่าวว่า “อุตสาหกรรมนี้พยายามที่จะผลิตสินค้าของตนโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และจะไม่เป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่อีกต่อไป”
แบรนด์สินค้าหลายแบรนด์ อาทิ พาทาโกเนีย (Patagonia) นอร์ธ เฟส (North Face) และทิมเบอร์แลนด์ (Timberland) เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหลายแห่งที่ใช้วัสดุธรรมชาติในการผลิตสินค้าของตน ขณะที่ บริษัทฟรูมัท (Frumat) ของอิตาลีได้พัฒนาหนังที่ทำจากขยะที่มาจากบริษัทผู้ผลิตน้ำแอปเปิ้ล เป็นต้น
นอกจากนั้น นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาวเม็กซิกันสองราย ได้แก่ เอเดรียน โลเปส เวลาร์เด (Adrian Lopez Velarde) และมาร์เท คาซาร์เรซ (Marte Cazarez) ได้ร่วมกันสร้างสรรค์เครื่องหนังที่พวกเขาเรียกว่า เดอแซร์โต (Desserto) โดยใช้ใบของกระบองเพชรออกมาสำเร็จ โดยพืชชนิดนี้นี้กำลังได้รับความสนใจจากบรรดานักพัฒนาวัสดุรายใหม่ ๆ เพราะพวกมันสามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนและดินที่มีคุณภาพไม่ดีได้
ผู้ที่สนใจในการนำวัสดุที่มีอยู่แล้วมาใช้ใหม่รายอื่น ๆ ได้แก่ บริษัทพินาเท็กซ์ (Pinatex) ผู้ให้การสนับสนุนฟาร์มในฟิลิปปินส์ด้วยการนำขยะเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวสับปะรดมาผลิตเป็นวัสดุที่ขายให้กับผู้ผลิตรองเท้า เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป รวมทั้ง โบลท์ เธร็ดส์ (Bolt Threads) บริษัทในแคลิฟอร์เนีย ที่ได้ได้สร้างสรรค์วัสดุ ‘มายโล’ (Mylo) ซึ่งเป็นหนังจากที่ทำจากไมซีเลียม (Mycelium) ซึ่งเป็นราที่มีลักษณะเป็นเส้นใยคล้ายโฟมที่บริษัทอย่าง อาดิดาส (Adidas) ลูลูเลมอน (Lululemon) และนักออกแบบอย่าง สเตลลา แมคคาร์ทนี (Stella McCartney) นำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่แล้ว
- ที่มา: เอพี