ปกติแล้วเมื่อพูดถึงสาเหตุของภาวะโลกร้อน คนทั่วไปมักจะนึกถึงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับแรก ว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีแก๊สอื่นๆ อีกหลายชนิดมีถือว่ามีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเช่นกัน และหนึ่งในนั้นมี “วัว” เป็นตัวการสำคัญ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปัจจุบันมีวัวอยู่ทั่วโลกราว 1,300 – 1,500 ล้านตัว ซึ่งแต่ละตัวปล่อยแก๊สมีเธนออกมาราว 120 กิโลกรัมต่อปี
นักวิจัยเชื่อว่าปริมาณดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าผลกระทบจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า และสามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานราว 10 – 15 ปี
เวลานี้นักวิทยาศาสตร์ที่ Autonomous University ของเม็กซิโก กำลังพยายามวัดปริมาณแก๊สมีเธนที่วัวแต่ละตัวปล่อยออกว่ามีส่วนต่อภาวะโลกร้อนมากน้อยแค่ไหน โดยใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ
คุณสเตฟานนี่ เฮอร์นานเดซ ผู้ช่วยนักวิจัย กล่าวว่า 95% ของแก๊สมีเธรที่วัวปล่อยออกมานั้น มาจากการหายใจ ดังนั้นนักวิจัยจึงใช้วิธีวัดปริมาณลมหายใจของวัวเพื่อคำนวณปริมาณมลพิษดังกล่าว พร้อมทั้งหาวิธีลดปริมาณแก๊สมีเธนที่วัวเหล่านั้นปล่อยออกมา
วิธีที่นักวิจัยนำมาใช้คือการปรับเปลี่ยนอาหารที่วัวกิน เพื่อให้มีแก๊สน้อยลง ซึ่งมีหลายประเทศที่นำวิธีนี้มาใช้แล้ว
นักวิจัยค้นพบว่าพืช 2 ชนิที่สามารถพบได้ทั่วไปในเม็กซิโก คือ "ใบกระถิน" และ "ดอกคอสมอส หรือดอกดาวกระจาย" สามารถนำมาผลิตเป็นอาหารวัว โดยมีราคาไม่แพง และไม่มีผลข้างเคียงต่อคุณภาพน้ำนมและเนื้อวัว
นอกจากนี้ นักวิจัยเชื่อว่าพืชทั้งสองชนิดนี้ยังทำให้น้ำนมวัวมีคุณภาพดีขึ้นด้วย ซึ่งเชื่อว่าประโยชน์ข้อนี้น่าจะช่วยโน้มน้าวให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในเม็กซิโกหันมาปลูกพืชสองชนิดนี้ได้ไม่ยาก
(ผู้สื่อข่าว George Putic รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)