การใช้เวลาประมาณสิบถึงยี่สิบกว่าชั่วโมงเพื่อบินข้ามทวีปจากเอเชีย ไปสหรัฐฯ หรือจากสหรัฐฯ ไปเอเชีย เป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของนักเดินทาง รวมทั้ง ตุลย์นภา ติลกมนกุล เจ้าหน้าที่ภาคสนามอาวุโสของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR
แต่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ตุลย์นภาต้องบินออกจากนครลอส แอนเจลิส ไปยัง เคอร์ดิสถาน ประเทศอิรัก ท่ามกลางการระบาดของโคโรนาไวรัสที่ทำให้หลายประเทศปิดน่านฟ้า และสายการบินต่าง ๆ ลดหรือยกเลิกไฟลท์เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ภาคสนามของ UNHCR พบว่าเธอต้องใช้เวลาบนเครื่อง และต่อเครื่องตามสนามบินต่าง ๆ หรือ เลย์โอเวอร์ (layover) ทั้งหมดถึง 55 ชั่วโมง มากกว่าปกติเกือบ 3 เท่า
"ไม่เคยต้องเลย์โอเวอร์ แล้วก็เดินทางนานขนาดนี้มาก่อน ในฐานะที่เราทำงานด้าน humanitarian (การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม) มันก็มีบางครั้งต้องนั่งเรือ 13 ชั่วโมง แต่อย่างน้อย 13 ชั่วโมงเรารู้ว่าพอถึงท่าปุ๊บ เราได้บินต่อ เรารู้ว่าการเดินทางของเรามันล็อคขนาดไหน จะรู้ว่า ตอนนี้เครื่องบินขึ้นนะ ตอนนี้ต้องนั่งเรือไปนะ กี่ชั่วโมง เรามั่นใจ อันนี้คือ เราไม่แน่ใจว่าสนามบินจะปิดอีกมั้ย เคสจะเป็นยังไง แล้วมันก็จะมีมาตรการเล็ก ๆ ของแต่ละประเทศ แต่ละสายการบินที่เมื่อก่อนไม่เคยมีมาก่อน"
ตุลย์นภา หรือ เฟิร์น ทำงานดูแลผู้ลี้ภัยในเคอร์ดิสถาน ประเทศอิรักมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว เธอบินกลับมาเยี่ยมครอบครัวที่อาศัยอยู่รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 5 มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะไม่นานหลังจากนั้น รัฐแคลิฟอร์เนียก็ประกาศให้มี shelter in place หรือมาตรการให้ผู้คนอยู่ในบ้าน ในขณะที่อิรักประกาศปิดน่านฟ้า ทำให้ตุลย์นภาต้องติดอยู่ในสหรัฐฯ ถึงเกือบสามเดือน
เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ความพยายามเดินทางกลับไปอิรัก จึงได้เริ่มต้นขึ้น
"ในเมื่ออิรักยังปิดประเทศอยู่ เขาก็จะมีไฟลท์ที่จัดเฉพาะให้คนที่จะบินเข้าได้ เพราะฉะนั้นนโยบายของประเทศก็คือว่า ถ้าคุณจะเข้ามาได้ ต้องผ่านการคัดกรองก่อน ถ้าเราทำงานของเกี่ยวกับสหประชาชาติ ชื่อเราก็อาจจะขึ้นไปเสนอกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อจะให้อนุมัติคนที่จะเข้าประเทศ"
ส่วนตุลย์นภาเองก็ต้องเตรียมเอกสารเพื่อบิน หรือ "fit to fly" ให้พร้อม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่สหรัฐฯ
"ก่อนจะเดินทางได้ ต้องขอใบรับรองแพทย์ก่อนว่า fit to fly ซี่งใบรับรองแพทย์จะต้องออกภายในสี่วันก่อนเดินทาง แต่ว่าสถานการณ์ในอเมริกา การจะหาแพทย์ คุณต้องรอเวลานานมากกว่าจะหาแพทย์ได้ และก็ไม่ได้ง่ายแบบเดินเข้า (โรงพยาบาล) บำรุงราษฎร์ หรืออะไรของเมืองไทย ใช้เวลานาน กว่าจะขอใบรับรองแพทย์ พอใบรับรองแพทย์ออก ครั้งแรกปุ๊บ ตอนนั้นตั๋วยังไม่ได้ ไฟลท์ยังไม่มี ก็ต้องไปใหม่...กว่าจะได้ตั๋ว ก็ต้องติดต่อกับ (สายการบิน) กาตาร์เป็นไฟลท์พิเศษ เฟิร์นได้ (ตั๋ว) หนึ่งวันก่อนเดินทาง"
เที่ยวบินที่เธอได้ ประกอบด้วยการบินภายในประเทศจากนครลอส แอนเจลิส ไปยัง ชิคาโก เพื่อที่จะออกจากชิคาโกไปยังสนามบินกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ก่อนจะต่อไฟลท์สุดท้ายจากโดฮา เข้าสนามบินเออร์บิล (Erbil) ในอิรัก
"ที่เฟิร์นเป็นห่วงสุด เป็นไฟลท์จากลอส แอนเจลิส เข้าชิคาโก เพราะมันมีเครื่องบินออกน้อยมาก แล้วก็เป็นอย่างที่เราคิดด้วย ทุกที่นั่งเต็มหมด มันไม่สามารถที่จะ physically distance (รักษาระยะห่าง) ได้ คือเดินชนแน่นอน ขนาด flight attendant (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน) เอง เวลาเดินสวนเรามา เขายังเดินชนเราเลย ระหว่างลอส แอนเจลิส ไปชิคาโก ไม่มีใครกล้าหลับเลยค่ะ คือนั่งตรง อยู่กับที่ของฉัน ใส่หน้ากากของฉันไปแล้วก็ฟังเพลง คือห้ามแตะห้ามอะไรทั้งนั้น"
เธอเล่าว่าสนามบิน Los Angeles International (LAX) และ Chicaco O’Hare International (ORD) ซึ่งเป็นสนามบินที่พลุกพล่านมากที่สุดเป็นอันดับสามและหกของโลกตามลำดับ คล้ายกับสนามบินร้าง ร้านรวงต่าง ๆ พากันปิดประตู แม้แต่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด
ไฟลท์จากชิคาโกไปโดฮาทำให้ตุลย์นภาสบายใจขึ้น เพราะทั้งลำมีผู้โดยสารประมาณ 30% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องนั่งกระจุกตัวอยู่ด้วยกัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ต้อนรับบนเครื่องบินสวมใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อเต็มที่
ส่วนที่ยากที่สุด คือการต้องรอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินโดฮาถึง 16 ชั่วโมง แต่นั่นก็ทำให้ตุลย์นภาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่การระบาดของโคโรนาไวรัสได้นำมาสู่สนามบินที่เธอใช้บริการอยู่เป็นประจำ
"ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โควิด-19 เราเห็นใน schedule (กำหนดการ) ว่า มีเครื่องบินที่จะลง และเครื่องบินที่จะออก ทุก ๆ สิบนาที ยี่สิบนาที มันจะต้องมีไฟลท์สองไฟลท์ แต่ตอนนี้ภายในเจ็ดชั่วโมงมีแค่สามไฟลท์ เขาไม่บินเลย แทบไม่มีคนที่สนามบินเลยค่ะ"
ไฟลท์พิเศษที่ตุลย์นภาโดยสารมา เป็นหนึ่งในไฟลท์แรกที่ได้รับอนุญาตให้บินเข้าประเทศอิรัก
แต่ถึงแม้ว่าจะเดินทางมาแล้วถึง 55 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของยูเอ็นก็ยังไม่สามารถเข้าที่พักตัวเองได้ เพราะทันทีที่เท้าแตะพื้นสนามบินเออร์บิล (Erbil) ของอิรัก เธอและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่พาไปกักตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่งเป็นเวลาสิบสี่วัน โดยมีค่าใช้จ่ายวันละ 200 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 6,200 บาท
ประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้เธอต้องหันมาทบทวนแผนการเดินทางในอนาคตอันใกล้
"เฟิร์นคิดว่านี่คือ new normal (ความปกติใหม่) เฟิร์นคิดว่าคงไม่กลับเป็นปกติในเร็ววันจนกระทั่งมีวัคซีนมั้ง เมื่อก่อนที่เราบิน เราอาจจะมีคุยกับ random passenger (ผู้โดยสารที่ไม่รู้จักกัน) ได้ แต่ตอนนี้คือ ยูอยู่กับที่นั่งของยูเอง หรือถ้ายูไปสนามบิน รู้สึกว่าจะทำอะไรทั้งทีต้องอยู่ห่างไกลเหลือเกินในการที่จะสื่อสาร แม้กระทั่งเอาตั๋ว เขาก็อยู่ห่างไกลเรานิดนึง รับตั๋วมาแล้วก็เช็ดตั๋ว สเปรย์ตั๋ว แล้วก็ยื่นกลับมาให้เรา"
ความเห็นของตุลย์นภาสอดคล้องกับชาวอเมริกัน ซึ่งจากการสำรวจของ Harris Poll เมื่อเดือนพฤษภาคม พบว่ามีคนอเมริกัน 48% ที่บอกว่าพวกเขาไม่รู้สึกสบายใจที่จะบินอีกครั้ง จนกว่าโควิด-19 จะหมดไป ถึงแม้ว่า 41% จะเผยว่าการเดินทางโดยเครื่องบินเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดถึงมากก็ตาม
รายงานโดย วรางคณา ชมชื่น Voice of America กรุงวอชิงตัน