การเดินหน้ารุกรานของรัสเซียในช่วงกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนในยูเครนนับล้านต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ตัว ขณะที่ ผู้ที่ยังปักหลักอยู่ในประเทศต้องประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมาก จนทำให้ธุรกิจข้ามชาติและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งตัดสินใจยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งหลายแล้ว
โอเลก คุทคอฟ วิศวกรด้านซอฟต์แวร์และระบบสื่อสารชาวยูเครน ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ผ่านระบบ เฟซไทม์ (FaceTime) ว่า ภายใต้ภาวะสงครามที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ชาวยูเครนจำนวนมากไม่สามารถเข้าสู่ระบบออนไลน์ได้มากนัก เนื่องจากกองทัพรัสเซียได้โจมตีจุดยุทธศาสตร์ด้านโทรคมนาคมและพลังงานของประเทศหลายแห่ง
แต่ด้วยความช่วยเหลือจากระบบอินเตอร์เน็ต สตาร์ลิงก์ (Starlink) จากบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของมหาเศรษฐี อิลอน มัสก์ ที่เปิดระบบให้ชาวยูเครนได้ใช้งาน คุทคอฟ จึงสามารถทำการติดต่อและรับข่าวสารต่างๆ ได้เหมือนปกติ
คุทคอฟ กล่าวว่า ในเวลานี้ รัฐบาลยูเครนใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ในการสื่อสารกับประชาชนมากกว่า ขณะที่ ประชาชนเองก็ได้รับข่าวสารต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมากกว่าทางโทรทัศน์หรือวิทยุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ระบบการเชื่อมต่อทางอินเตอร์เน็ตนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด
การนำส่งความช่วยเหลือด้านระบบโทรคมนาคมครั้งนี้มีจุดเริ่มจากการที่ มิคไคโล เฟโดรอฟ ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงปฏิรูปดิจิทัล ทวีตข้อความหา มัสก์ เพื่อขอความช่วยเหลือด้านระบบโทรคมนาคมความเร็วสูง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ หรือ 2 วันหลังจากกองทัพรัสเซียเริ่มบุกโจมตีประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกเฉียงใต้ของตน
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มัสก์ ใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจเพื่อทำการตลาดก็ตาม มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทรถยนต์ เทสลา (Tesla) ได้ตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับข้อความดังกล่าว ว่า จะนำส่งและติดตั้งระบบสตาร์ลิงก์ให้ โดยจัดการส่งอุกรณ์ชุดแรกถึงยูเครนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ก่อนที่ รมต.เฟโดรอฟ จะทวีตข้อความออกมาอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคมว่า ยูเครนเพิ่งได้รับอุปกรณ์ระบบสตาร์ลิงก์ชุดที่ 2
รายงานข่าวที่อ้างข้อมูลจากองค์กรณ์ เน็ตบล็อกส์ (NetBlocks) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนและเชี่ยวชาญด้านการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาระบบอินเตอร์เน็ตดับทั่วโลก ระบุว่า เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองของยูเครน ซึ่งรวมถึง เคอร์ซัน มาริอูโพล คาร์คีฟ และเคียฟ มีปัญหาใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้เนื่องจากผลจากการโจมตีของกองทัพรัสเซีย
และแม้ มัสก์ จะเตือนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตสตาร์ลิงก์ในยูเครนว่า รัสเซียเองก็เข้าถึงระบบนี้และใช้ในการจับเป้าผู้ใช้งานได้ โอเลก คุทคอฟ วิศวกรด้านซอฟต์แวร์ ยังเดินหน้าแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับระบบนี้ให้กับชาวยูเครนผ่านทวิตเตอร์มาโดยตลอด และบอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า ตนได้รับคำร้องขอมากมายจากทั่วประเทศ ทั้งจากประชนชนทั่วๆ ไปและบริษัทต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานในกองทัพให้ช่วยติดตั้งการเชื่อมต่อให้ด้วย
ทั้งนี้ สเปซเอ็กซ์ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนมากมายที่ทยอยยื่นความช่วยเหลือและให้การสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย โดยธุรกิจชั้นนำรายอื่นๆ นั้น มีอาทิ บริษัทโทรคมนาคม ที-โมไบล์ (T-Mobile) เอทีแอนด์ที (AT&T) และเวไรซอน (Verizon) ที่ประกาศยกเว้นการเรียกเก็บค่าโทรและส่งข้อความไปยังและจากยูเครน ขณะที่ แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ผู้ให้บริการจัดหาที่พักออนไลน์ นำเสนอบริการที่พักชั่วคราวโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับผู้อพยพลี้ภัยจากยูเครนจำนวน 100,000 คน
นอกจากนั้น กูเกิล (Google) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ประกาศระงับการใช้งานของสื่อของรัฐบาลรัสเซียไม่ให้เข้าถึงแพลตฟอร์ทั้งหมดในยุโรป กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลต่างๆ ในยุโรปเพื่อจัดการกับปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่ทำเนียบเครมลินส่งออกมา ขณะที่ ทวิตเตอร์ (Twitter) ดำเนินการขึ้นป้ายเตือนข้อความทวีตทั้งหมดที่มีเนื้อหาข้อมูลมาจากสื่อที่ทำงานให้กับรัฐบาลมอสโกแล้ว
ข้อมูลจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัย เยล (Yale School of Management) ระบุ ว่า จวบจนถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีบริษัทกว่า 340 แห่งที่ประกาศถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย เพื่อประท้วงคำสั่งรุกรานยูเครนของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน