องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มจำนวนเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาหนักจากการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และเตือนว่า การไม่เตรียมพร้อมทุกอย่างไว้อาจทำให้มีประชาชนจำนวนนับไม่ถ้วนต้องเสียชีวิต และมูลค่าความสูญเสียจากวิกฤติครั้งนี้อาจพุ่งขึ้นถึงระดับหลายล้านล้านดอลลาร์ในภายหลัง
องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า เงินที่จะต้องเตรียมไว้ช่วยเหลือประเทศที่มีความเดือดร้อนหนักที่สุดจากวิกฤติสาธารณสุขครั้งนี้ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 10,300 ล้านดอลลาร์แล้ว โดยเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติร้องขอให้รัฐบาลราว 40 ประเทศบริจาคเงินรวม 2,000 ล้านดอลลาร์เพื่อมารับมือกับการระบาดของโควิด-19 ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลง จนทำให้ต้องเพิ่มงบขอบริจาคเป็น 6,700 ล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม
รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติเพิ่งได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวน 1,640 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ในส่วนของงบขอบริจาคที่ปรับขึ้นใหม่นี้ องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ตั้งเป้าเอาไปช่วยผู้คนจำนวน 250 ล้านคนใน 63 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา ภูมิภาคตะวันออกกลาง และแถบละตินอเมริกา ซึ่งทั้งหมดนี้มีสัดส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมรวมกันแล้วราว 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อเกือบ 14 ล้านคนทั่วโลก โดยประเทศในละตินอเมริกาคือกลุ่มที่มีการระบาดหนักที่สุดในโลกในเวลานี้
รายงานข่าวชี้ว่า ประเทศที่มีฐานะร่ำรวยต่างจัดสรรงบประมาณเพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 รวมกันแล้วเป็นเงินกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ทั่วโลก
มาร์ค โลว์คอค หัวหน้าฝ่ายกิจการด้านมนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า มีการประเมินค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ประชากรโลกที่ยากจนที่สุดให้รอดพ้นจากผลกระทบของการระบาดและภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ไว้ที่ราว 90,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของแผนช่วยเหลือที่ประเทศร่ำรวยต่างๆ จัดสรรให้กับคนและเศรษฐกิจของตนด้วยซ้ำ
องค์การสหประชาชาติเตือนว่า หากไม่งบก้อนนี้มาช่วยดำเนินแผนปกป้องประชากรโลกที่ต้องการความช่วยเหลือดังกล่าว ท้ายที่สุด อาจมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกถึง 640 ล้านคน และกว่า 1.6 ล้านคนในประเทศที่มีความเปราะบางที่สุดอาจต้องเสียชีวิตลงจากการติดเชื้อนี้ ขณะที่ผู้คนอีกราว 1.7 ล้านคนอาจเสียชีวิตจากอาการป่วยที่สามารถรักษาได้ เช่น เอชไอวี วัณโรค และมาลาเรีย เนื่องจากการหยุดชะงักของบริการด้านการแพทย์และทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องนำไปใช้รับมือกับวิกฤติโควิด-19