ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่นำมาซึ่งการกลับคืนสู่ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการกลับมาเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาของพรรครีพับลิกัน หมายถึง ชัยชนะของผู้สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ เช่นกัน ดังที่เห็นได้จากบรรยากาศการชุมนุมของผู้มีแนวคิดดังกล่าวในงานที่ผมยืนอยู่นี้ ซึ่งมีชื่อว่า งาน Conservative Political Action Conference (CPAC) ที่มีการจัดขึ้นทุกปี
งานประชุม CPAC ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ ที่ Gaylord National Resort and Convention Center ในรัฐแมรีแลนด์ ใกล้ ๆ กับกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐฯ คือ การชุมนุมของผู้มีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม จากทั้งในสหรัฐฯ เองและหลายประเทศที่ภาวะการเมืองมีการแบ่งแยกของฝ่ายซ้ายหรือเสรีนิยมและฝ่ายขวาชัดเจน
ในปีนี้ ผู้จัดงานได้เตรียมหัวข้อต่าง ๆ ให้วิทยากรและแขกสำคัญที่มีบทบาทด้านแนวคิดอนุรักษ์นิยมขึ้นมาแสดงวิสัยทัศน์มากมาย เช่น เรื่องการชูพรรครีพับลิกันให้เป็นผู้ควบคุมการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นอาวุธจัดการกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางพรรคใช้โจมตีฝั่งเดโมแครตตั้งแต่นาสมัยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไปจนถึงเรื่องการถล่มแนวคิดทางสังคมแบบ Woke ของฝ่ายซ้ายที่ผู้มีแนวคิดฝ่ายขวามองว่าเป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายผลักดันมาตลอด ภัยคุกคามจากจีน รวมทั้งประเด็นที่ผู้สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมต้องการเดินหน้าผลักดัน เช่น นโยบายพลังงาน การจัดการกับระบบราชการ และเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการศึกษาและสวัสดิการสุขภาพของประเทศ เป็นต้น
โดยวันแรกของงาน รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ คือ ผู้ที่ขึ้นเปิดเวทีด้วยการนั่งสัมภาษณ์สดต่อหน้าผู้ร่วมงานนับพันคนและตอกย้ำจุดยืนด้านนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ 2.0
ในส่วนของผู้ที่ขึ้นมาพูดบนเวทีในงาน CPAC คนอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีบทบาทด้านแนวคิดอนุรักษ์นิยมในวงการสื่อมวลชน การเมืองสหรัฐฯ และนักการเมืองจากต่างประเทศ โดยต่างชูประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่พวกเขาสนับสนุน โดยมีตัวแทนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เช่น คริส ไรท์ รัฐมนตรีพลังงาน แพม บอนดี และรัฐมนตรียุติธรรม ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฏร
นอกจากนั้น แครี เลค อดีตผู้สมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการและวุฒิสมาชิกรัฐแอริโซนา ที่ได้รับการเสนอชื่อจากปธน.ทรัมป์ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวีโอเอ ได้ขึ้นเวทีในวันที่ 2 และกล่าวว่า เธอเห็นด้วยกับการตัดลดขนาดของหน่วยงานรัฐบาล แต่ยังคงรักษาหน่วยงานข่าวอย่างวีโอเอไว้ให้เป็น soft power ของสหรัฐฯ
งาน CPAC ปีนี้ ยังดึงดูดนักการเมืองและผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม เช่น มาเทอุซ โมราเวียซกี อดีตนายกรัฐมนตรีโปแลนด์และประธานพรรคอนุรักษ์นิยม ECR Party (European Conservatives and Reformists Party) อดีตนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ แห่งอังกฤษและไนเจล ฟาราจ อดีตนักการเมืองอังกฤษผู้สนับสนุน Brexit ผู้มีแผนจะลงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในครั้งหน้า
การชุมนุมของผู้มีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมนี้มีความสำคัญในการเป็นพื้นที่ให้ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ผงาดขึ้นมาในฐานะบุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองฝ่ายขวา โดยทรัมป์ได้มาร่วมงานทุกปีก่อนจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรกและคว้าชัยชนะไปในปี 2016
ทั้งนี้ เรื่องของแนวคิดฝั่งซ้ายและขวาในแง่การเมืองนั้นอาจเป็นเรื่องที่หลายคนพอเคยได้ยิน หรือคุ้นเคยกันมาบ้าง แต่ในการเมืองของไทยนั้น ยังไม่มีการเคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนสามารถแบ่งพรรคการเมืองเป็นสองฝั่งได้เหมือนในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ
ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะกับ วีโอเอ ไทย ว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวาของสหรัฐฯ มีการขับเคลื่อนประเด็นร่วมกันชัดเจนหลายอย่าง โดยมักมีการอิงเรื่องของคำสอนทางศาสนาคริสต์มาด้วย และมีความชัดเจนเรื่อง การต่อต้านความหลากหลายทางเพศ การต่อต้านการทำแท้ง การต่อต้านแนวคิดเสรีนิยม หรือแม้กระทั่งการต่อต้านผู้อพยพ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน รองศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยอธิบายไว้ในบทความที่ชื่อ “การเติบโตของกลุ่มอนุรักษ์นิยมและการเสื่อมถอยของกลุ่มเสรีนิยมในขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ” และพูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยในยุคใหม่เริ่มต้นจากกลุ่มเสรีนิยมที่มีความหลากหลาย ก่อนจะกลายเป็นขบวนการที่ถูกครอบด้วยแนวคิดและพลังอนุรักษ์นิยม
โดยไทยเคยมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ประกอบด้วย แนวคิดอนุรักษ์นิยมทางวัฒนธรรมและศาสนา กษัตริย์นิยม ศีลธรรมนิยม เน้นระเบียบวินัย ความนิยมชมชอบชนชั้นสูงและขุนนาง ตั้งแต่เมื่อปี 2548
และจากนั้น ได้เห็นการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยมอันตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ประกอบที่อยู่ในขั้วตรงข้ามกับทุกอย่างที่กล่าวมาก่อนหน้า
ในส่วนของงานชุมนุมปีนี้ บรรยากาศของงานที่ภายนอกห้องประชุมใหญ่เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีสื่อมวลชนและพอดคาสท์สายอนุรักษ์นิยมมาสัมภาษณ์และบันทึกรายการกันสด ๆ จากงาน ท่ามกลางผู้มาร่วมงานที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ
หนึ่งในผู้ที่มีจุดยืนสนับสนุนแนวคิดนี้คือ เวนดี เคลย์ตัน จากฟลอริดา ที่บอกกับวีโอเอไทยว่า เธอมางานนี้เพราะตัวเธอเองเข้าร่วมกิจกรรมแสดงความรักชาติเสมอ และกล่าวด้วยว่า “เธอรักประเทศของเธอ ประธานาธิบดีของเธอและพระเจ้าของเธอด้วย”
ด้านคริส โคลห์ส นักยูทูบเบอร์จากลอสแอนเจลิส ข้ามทวีปมาร่วมงานในปีนี้ด้วยความรู้สึกที่แปลกไปจากเดิม โดยอธิบายว่า “ปีนี้เป็นปีที่พิเศษกว่าที่ผ่านมาสำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยม เพราะฝ่ายขวารู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะสงครามมาตั้งแต่เมื่อปี 2018 ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีและถูกฝ่ายซ้ายโจมตีมาตลอด แต่ปีนี้ ทุกคนรู้สึกเหมือนว่า ได้ชนะสงครามเสียที”
ส่วนบนเวทีใหญ่นั้น หนึ่งในผู้ที่เรียกเสียงเชียร์ได้มากที่สุดในวันแรกของ CPAC คือ อิลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ที่ออกมาบนเวทีพร้อมกับเลื่อยไฟฟ้าเพื่อตอกย้ำบทบาทของตนในหน่วยงานเพื่อประสิทธิภาพของรัฐบาล หรือ DOGE ที่ตรวจสอบและแนะนำการหั่นงบและลดขนาดของหน่วยงานรัฐ
งานระดมเสียงผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทางการเมืองประจำปีของสหรัฐฯ นี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลปธน.ทรัมป์ สมัยที่ 2 เดินหน้าผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่มีการสัญญาไว้ในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ที่มีทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศที่รวมถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลกหลายอย่างซึ่งยังต้องมีการจับตาดูว่า จะเดินหน้าต่อไปเช่นไร
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น