ปัญหาเยาวชนติดเกมออนไลน์ คือ หนึ่งในบรรดาประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ และล่าสุด ได้บังคับใช้นโยบายใหม่เพื่อควบคุมพฤติกรรมของชาวจีนวัยเยาว์ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย
ในเวลานี้ ประเทศจีนได้กำหนดกฎใหม่ในการจำกัดระยะเวลาที่เด็กสามารถเล่นเกมออนไลน์ได้ โดยข้อจำกัดนี้กำหนดให้เด็กเล่นเกมออนไลน์ได้เพียงสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง คือ 1 ชั่วโมงระหว่างเวลา 20.00 น. และ 21.00 น. ในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่
หลี่ จางกั้ว (Li Zhanguo) คุณพ่อลูกสอง อายุ 4 ขวบและ 8 ขวบ ที่แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แต่ก็สนุกกับการเล่นเกมออนไลน์ เขาเล่าว่า ถ้าลูกๆ ของเขาได้จับโทรศัพท์มือถือหรือไอแพดของพ่อแม่ โดยที่ไม่ได้คอยดูแลเวลาที่เล่นเกมอย่างใกล้ชิด เด็กๆ สามารถเล่นเกมออนไลน์ได้นานถึง 3-4 ชั่วโมงในแต่ละครั้งเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับผู้ปกครองคนอื่นๆ ในจีน หลี่ พอใจกับข้อจำกัดใหม่ของรัฐบาล แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ายังไม่ชัดเจนว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถช่วยป้องกันการเสพติดเกมออนไลน์ได้หรือไม่ หรือเด็กๆ อาจจะไปติดสื่อสังคมออนไลน์แทน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พ่อแม่ควรเป็นคนที่กำหนดขอบเขตและสนับสนุนแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่บุตรหลานของตน
ทั้งนี้ มีความกังวลเพิ่มขึ้นในประเทศจีนเกี่ยวกับการติดเกมในหมู่เด็ก รายงานของรัฐบาลในปี ค.ศ. 2018 พบว่าเด็กชาวจีนราว 1 ใน 10 คนติดอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ดี กฎใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เยาวชนใช้เวลากับความบันเทิงมากเกินไป ซึ่งเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่เรียกว่า “วัฒนธรรมความคลั่งไคล้ที่ไร้เหตุผล” รอบๆ ตัวบรรดาคนดังอีกด้วย
หน่วยงานบริหารสื่อและสิ่งพิมพ์ของจีนกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เยาวชนคืออนาคตของมาตุภูมิ และการปกป้องสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้เยาว์นั้นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่สำคัญของมวลชน” ซึ่งคล้ายๆ กับโครงการรณรงค์เพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาพที่ดีขึ้นเพื่อให้ประเทศจีนมีอำนาจมากขึ้นของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน
ภายใต้กฎใหม่ ความรับผิดชอบในการให้เด็กๆ เล่นเกมได้เพียงสามชั่วโมงนั้นตกอยู่กับบริษัทเกมของจีนอย่าง NetEase และ Tencent เกมในมือถือ Honor of Kings ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงของ Tencent นั้นมีผู้เล่นหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ
บริษัทต่างๆ ได้จัดตั้งระบบการลงทะเบียนชื่อจริงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ที่อายุน้อยใช้เวลาเล่นเกมเกินเวลาที่จำกัด โดยใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน และยังได้จัดทำโปรแกรมที่อนุญาตให้ผู้คนรายงานการละเมิดต่างๆ อีกด้วย
ยังไม่ชัดเจนว่าบริษัทเกมจะต้องถูกลงโทษอย่างไรหากพวกเขาไม่บังคับใช้ข้อจำกัดดังกล่าว และแม้ว่านโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนอีกเช่นกันว่าจะป้องกันการเสพติดออนไลน์ได้หรือไม่
เต๋า หรั๋น (Tao Ran) ผู้อำนวยการองค์การด้านจิตวิทยาพัฒนาการสำหรับเยาวชนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการรักษาอาการติดอินเทอร์เน็ต คาดว่าเด็กราว 20 เปอร์เซ็นต์จะหาวิธีหลีกเลี่ยงกฎข้อบังคับนี้ พวกเขาจะพยายามเอาชนะระบบด้วยการยืมบัญชีของญาติผู้ใหญ่มาเล่น และหาวิธีหลีกเลี่ยงการจดจำใบหน้า
แอพฯ วิดีโอสั้นอย่างเช่น Douyin (โต่วยิ้ง) และ TikTok ก็เป็นที่นิยมเช่นกันในประเทศจีน แต่แอพฯ เหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเดียวกันกับเกม
แบร์รี ยิป (Barry Ip) จากมหาวิทยาลัย University of Hertfordshire ในประเทศอังกฤษได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเล่นเกมและการเสพติดเกม เขากล่าวว่าเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนหนุ่มสาวที่จะใช้เวลา 4 ชั่วโมงไปกับ TikTok ในตอนเย็นแทนที่จะเล่นเกมหากเวลาของพวกเขาไม่ได้ถูกจำกัดหรือควบคุมเกี่ยวกับเรื่องนี้
คุณพ่อลูกสองอย่างหลี่ วางแผนที่จะให้ลูกสาวของเขาเริ่มเรียนเปียโน เขากล่าวว่าในบางครั้งการที่ต้องทำงาน อาจทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาสนใจลูกๆ และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ จำนวนมากหันไปเล่นเกม ดังนั้นพ่อแม่ต้องเต็มใจช่วยลูกปลูกฝังงานอดิเรกและความสนใจเพื่อที่พวกเขาจะได้เติบโตและมีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์
(ที่มา: สำนักข่าว เอพี)