เหตุการณ์ลักพาตัวนักแสดงโทรทัศน์จีนไปยังเมียนมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาเป็นการส่งสัญญาณของการขยายตัวและยกระดับความพยายามของขบวนการสแกมเมอร์ออนไลน์ที่ลักลอบค้ามนุษย์ในเมียนมาในการล่อลวงเหยื่อที่หมายตาไว้
ในกรณีล่าสุดนี้ หวัง ซิง หรือ ซิงซิง นักแสดงชาวจีน หายตัวไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และสมาชิกในครอบครัวของหวังแจ้งตำรวจใน 2 วันต่อมา โดยมีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ทางสื่อสังคมออนไลน์มากมาย จนทำให้ทางการไทยและจีนต้องออกมาเร่งทำงาน และเปิดเผยการพบตัวนักแสดงรายนี้ในเมียนมา เมื่อวันอังคารที่ 8 มกราคม
เจ้าหน้าที่ไทยรายงานว่า หวังถูกกักขังในพื้นที่ KK Park ในเมืองเมียวดี ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของแก๊งสแกมเมอร์ โดยเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่นักแสดงจีนรายนี้ถูกหลอกผ่านแพลตฟอร์ม WeChat ว่า ให้มาทดสอบหน้ากล้องที่ไทย ก่อนที่จะถูกพาตัวข้ามชายแดนไทย-เมียนมาไปโกนหัวและจับฝึกเป็นสแกมเมอร์ออนไลน์ร่วมกับเหยื่อชาวจีนราว 50 คน อ้างอิงรายงานของสื่อต่าง ๆ
ทั้งนี้ หลังจากทางการไทยช่วยเหลือกลับออกมาจากเมียนมาได้ หวังได้เดินทางกลับเซี่ยงไฮ้ไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนออกมาพูดถึงปัญหานี้ ขณะที่ สื่อรัฐบาลจีนรายงานว่า ครอบครัวของเหยื่อราว 174 คนร่วมกันออกจดหมายและส่งต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน โดยเนื้อความในจดหมายดังกล่าวนั้น เป็นคำร้องจากสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ถูกระบุว่า ถูกหลอกลวงไปคุมขังอยู่ทางเหนือและทางตะวันออกของเมียนมา
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า กรณีเหตุการณ์ที่เกิดกับหวังเน้นย้ำถึงความซับซ้อนของปฏิบัติการสแกมเมอร์ในเมียนมาที่ยกระดับขึ้นอย่างมาก
เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการของสถาบัน United States Institute of Peace (USIP) ประจำเมียนมา บอกกับ วีโอเอ ว่า การลักพาตัวนักแสดงจีนวัย 31 ปีนี้ เป็นกระบวนการที่มีวางแผนรอบคอบโดยเจตนาเพื่อการจับเป็นตัวประกันซึ่งแก๊งอาชญากรสแกมเมอร์กำลังดำเนินการอยู่ในช่วงนี้ พร้อมระบุว่า “วิธีการลักลอบจับคนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของแก๊งเหล่านี้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนอย่างมาก” ด้วย
ทาวเวอร์กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า บรรดาอาชญากรมีการปรับตัวและพยายามอย่างถึงที่สุดในการหลอกล่อผู้คนที่มีความหลากหลายต่างกันไปมาคุมขังไว้ เพื่อรีดไถเงินตรง ๆ หรือบีบบังคับให้เข้าร่วมการก่ออาชญากรรม
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แก๊งอาชญากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งเป้าจับตัวพลเมืองชาวจีนมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เมื่อปี 2023 สำนักข่าว Radio Free Asia ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงาน USAGM เช่นเดียวกับ วีโอเอ เคยสัมภาษณ์ชายชาวจีนคนหนึ่งที่ขอเปิดเผยเพียงนามสกุล “เชน” เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งระบุว่า ตนเป็นเหยื่อแก๊งลักลอบค้ามนุษย์ที่ถูกกลุ่มสแกมเมอร์จับไปขังไว้ในเมียนมา และกล่าวว่า มีชาวจีนอย่างน้อย 1,000 คนที่ถูกจับไป โดยหัวหน้าแก๊งนั้นเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าไถ่คนละ 30,000 ดอลลาร์ (ราว 1 ล้านบาท) เพื่อแลกกับการปล่อยตัว
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ศูนย์สแกมเมอร์หลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมในจีนที่ทำปฏิบัติการในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในลาว กัมพูชาและเมียนมา
เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการของสถาบัน USIP กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ยกระดับขึ้นอย่างมาก และแก๊งอาชญากรรมจีนเหล่านี้ก็ฝังตัวลึกอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านไทยทั้งหมด และมีการขยายปฏิบัติการเข้ามาในไทยด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า การจัดการกับอาชญากรรมข้ามแดนนั้นเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับต้น ๆ ของประเทศ
แต่ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ว่า การต่อสู้แก๊งอาชญากรรมข้ามชาตินั้นต้องการการสนับสนุนมากกว่าที่มีอยู่ จากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรักษากฎหมายของไทย และว่า ประเทศไทยเป็นทั้งศูนย์กลางและจุดเชื่อมต่อของศูนย์สแกมเมอร์และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ในขณะที่ “มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นหยั่งรากลึกและการเสื่อมถอยของสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะกองกำลังตำรวจ”
ในฝั่งของจีนนั้น ทางการกรุงปักกิ่งรับรู้และยอมรับว่า ประเด็นสแกมเมอร์และการหลอกลวงฉ้อโกงทางโทรศัพท์ คือปัญหาใหญ่ของประเทศตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการผ่านกฎหมายต่อต้านการหลอกลวงฉ้อโกงออนไลน์และทางโทรศัพท์ออกมาเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2022 แล้วก็ตาม
เจสัน ทาวเวอร์ จากสถาบัน USIP ระบุว่า ทางการจีนพยายามออกแคมเปญเพิ่มให้ความรู้กับสาธารณชนและดำเนินมาตรการโน้มน้าวพลเมืองของตนไม่ให้มาเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่น การเผยแพร่คำชี้ชวนว่า การเดินทางมาไทยนั้นอาจทำให้ตกเป็นเหยื่อกลุ่มค้ามนุษย์และจับตัวไปในเมียนมา รวมทั้งอาจถึงขั้นเสียไต ก่อนที่ต่อมา ตำรวจจีนจะไล่โทรศัพท์หาผู้ที่จองตั๋วเครื่องบินเพื่อสอบถามว่า จะไปทำอะไรในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนั้น ยังมีภาพยนตร์จีนที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “No More Bets” ออกฉายในเดือนสิงหาคม ปี 2023 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มหนึ่งที่มาเที่ยวประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ไม่มีการระบุชัดว่าเป็นประเทศใด และตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ ถูกกลุ่มสแกมเมอร์จับไปคุมขังและบังคับใช้แรงงานด้วย
เบเนดิกต์ ฮอฟแมนน์ รองผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime :UNODC) ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้จะมีคำเตือนออกมามากมาย ยังมีคนตกเป็นเหยื่อการล่อลวงอยู่เสมอ
และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะกระทบตลาดท่องเที่ยวจีนในไทยไม่น้อย โดยความสำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถวัดได้จากสถิติการมาเยือนไทยในปี 2024 ที่สูงถึงกว่า 6 ล้านคนอันเป็นตัวเลขสูงที่สุดของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
รายงานจากฮ่องกงเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มยกเลิกแผนเดินทางมาไทยในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนที่เริ่มต้นในวันที่ 27 มกราคมนี้แล้ว
ในเรื่องนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้พยายามออกมาให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวจีน และออกข่าวประชาสัมพันธ์เป็นภาษาจีนกลางเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่มีเนื้อหาว่า ประเทศไทย “ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว”
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางการไทยและจีนได้ร่วมการประชุมระดับสูงเพื่อหารือหนทางยกระดับความร่วมมือในการต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติกันด้วย
วีโอเอ ติดต่อไปยังสถานทูตจีนในกรุงเทพฯ เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับกรณีการลักพาตัว “ซิงซิง” และประเด็นความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยของชาวจีน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับก่อนตีพิมพ์รายงานข่าวนี้
อย่างไรก็ดี วินเซนต์ วิจิตรวาทการ นักวิเคราะห์ด้านการท่องเที่ยว ไม่เชื่อว่า กรณีการลักพาตัวต่าง ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นจะมีผลกระทบระยะยาวต่อไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว และแสดงความหวังกับ วีโอเอ ว่า ความสำเร็จใน “การไขคดีใหญ่ ๆ ในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้ทั้งทางการไทยและจีนหาหนทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันไม่ให้กลุ่มอาชญากรทั้งหลายใช้พื้นที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการก่อเหตุต่าง ๆ ต่อไป”
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น