เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และไต้หวันกล่าวว่า จีนนำแท่นยิงจรวดจากพื้นสู่อากาศเข้าพื้นที่เกาะแห่งหนึ่งในเขตทะเลจีนใต้ ที่ซึ่งรัฐบาลเวียดนามและไต้หวันก็อ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน
เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ประธานาธิบดีโอบามาเรียกร้องให้ประเทศคู่กรณีในความชัดแย้งบริเวณทะเลจีนใต้หาทางออกอย่างสันติ
รายงานข่าวที่ได้รับการยืนยัน แสดงภาพเครื่องยิงจรวดสองชุด ชุดละ 8 เครื่อง พร้อมด้วยระบบเรดาร์บนเกาะ Woody ซึ่งจีนเรียกว่าเกาะ “ยงจิง” และเวียดนามเรียกว่าเกาะ “พูลาม” ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะพาราเซล เกาะ Woody ถูกอ้างกรรมสิทธิ์โดยจีนตั้งแต่เมื่อ 60 ปีก่อน และถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกาะไห่หนาน
รัฐมนตรี หวัง ยี่ แห่งกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวตอบโต้ว่าสื่อตะวันตกควรให้ความสนใจเรื่องอื่นๆ เช่น งานที่สถานีอุตุนิยมและประภาคารของจีนในทะเลจีนใต้ และว่ารายงานข่าวเกี่ยวกับการนำอาวุธขึ้นเกาะ Woody เป็นความพยายามที่จะสร้างข่าวโดยสื่อตะวันตก
เขาบอกด้วยว่าจีนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นไม่ควรมีใครตั้งคำถามในเรื่องนี้
ด้านอาจารย์ Alexander Huang ที่มหาวิทยาลัย Tankang แห่งไต้หวัน กล่าวว่าท่าทีของจีนในการนำอาวุธเข้าพื้นที่ ส่งสัญญาณที่สำคัญถึงความตั้งใจของจีนในอนาคต แม้ว่าสัญญาณดังกล่าวขัดกับสิ่งที่จีนเคยสื่อไปแล้วในอดีต
เขาบอกว่าจีนเคยบอกก่อนหน้านี้ว่า จะไม่ทำให้บริเวณที่มีปัญหาเป็นเขตทหาร และแม้ว่าความขัดแย้งเรื่องเกาะ Woody เป็นเรื่องของจีนและเวียดนาม แต่สหรัฐฯ น่าจะจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจนำไปสู่การยกระดับให้กองทัพจีนเกี่ยวข้องมากขึ้นกับหมู่เกาะ Spratly
เขากล่าวว่า จีนกำลังถูกกดดันครั้งใหญ่จากการประชุมสุดยอดระหว่างประเทศ ASEAN และสหรัฐฯ รอบพิเศษที่รัฐแคลิฟอร์เนียในสัปดาห์นี้ และจากการหารือกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เรื่องความสัมพันธ์ทางทหารภายใต้กรอบ THAAD
ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุม ASEAN และสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโอบามา บอกว่าสหรัฐฯ และ ASEAN มีพันธะร่วมกันในการรักษากฎระเบียบในภูมิภาคให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมา ซึ่งเป็นไปตามสิทธิ์ของทุกชาติไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือเล็ก
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่าได้พูดคุยกับผู้นำใน ASEAN เรื่องความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ รวมถึงการหยุดยั้งไม่ให้มีการถมทะเล และการนำอาวุธเข้าพื้นที่ความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการสานต่อเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เพราะขณะที่ประเทศ ASEAN ต้องการสานความสัมพันธ์ที่จริงใจกับสหรัฐฯ แต่อิทธิพลของจีนมีผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาในภูมิภาคนี้
นักวิเคราะห์ Ross Darrell Feigngold จากสถาบันวิเคราะห์ความเสี่ยง DC International Advisory กล่าวว่า จีนกำลังเจอกับประเด็นต่างที่รุมเร้าหลายด้านที่ทดสอบความสามารถในการรักษาอิทธิพลของปักกิ่งในเอเชีย
Ross Darrell Feigngold พูดถึงสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นว่า มีทั้งเรื่องการทดลองอาวุธของเกาหลีเหนือ การเลือกตั้งในไต้หวัน และการประชุมสุดยอด ASEAN ในสหรัฐฯ
เขากล่าวว่า แม้จะถูกรุมล้อมด้วยปัจจัยท้าทายเหล่านี้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งแสดงให้เห็นว่ามีความมั่นในในการรับมือกับปฏิกิริยาของนานาประเทศ หลังจากที่จีนนำจรวดเข้าเขตของเกาะ Woody ในครั้งนี้
(รายงานโดย Bill Ide / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)