ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนอวดโฉมเรือจู่โจม-เครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่


ภาพที่เผยแพร่โดยสื่อซินหัว เผยให้เห็นเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 076 ในชื่อ เสฉวน ที่นครเซี่ยงไฮ้ 27 ธ.ค. 2024 (Li Yun/Xinhua via AP)
ภาพที่เผยแพร่โดยสื่อซินหัว เผยให้เห็นเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 076 ในชื่อ เสฉวน ที่นครเซี่ยงไฮ้ 27 ธ.ค. 2024 (Li Yun/Xinhua via AP)

จีนแสดงแสนยานุภาพด้านการทหารที่ทันสมัย ด้วยการเผยโฉมเรือยกพลขึ้นบกจู่โจมที่สามารถปล่อยเครื่องบินขับไล่ได้ ขณะที่มีวิดีโอแพร่สะพัดบนโลกออนไลน์ที่มีภาพของเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นใหม่ของกองทัพแดนมังกร

เมื่อวันอาทิตย์ จีนเผยโฉมเรือยกพลขึ้นบกจู่โจมรุ่น 076 ลำแรกที่เรียกว่า เสฉวน ออกจากท่าเรือในนครเซี่ยงไฮ้ หลังจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หรือ PLA ปล่อยเรือลงสู่ทะเลในพิธีการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

เรือเสฉวน บรรทุกน้ำหนักได้มากกว่า 40,000 ตัน มีลานปล่อยเครื่องบินแบบแม่เหล็กไฟฟ้าเต็มรูปแบบ พร้อมสำหรับการปล่อยเครื่องบินแบบปีกตรึงและเฮลิคอปเตอร์จากเรือได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพจีน จาง จุนซื่อ บอกกับสื่อรัฐบาลจีน Global Times ว่า นอกเหนือจากระบบปล่อยเครื่องบินแล้ว เรือเสฉวนยังใช้เป็นที่ลงจอดของเครื่องบินรบได้ ด้วยลานบินและขนาดเรือที่ใหญ่ เรือลำนี้ “สามารถบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์พิสัยไกลขึ้นและมีศักยภาพการรบที่แข็งแกร่งขึ้นได้” พร้อมเสริมว่าเรือเสฉวน “มีศักยภาพอันยอดเยี่ยมในภารกิจโจมตีบนบกและทางอากาศที่เหนือชั้น” เพราะระบบปล่อยเครื่องบินแบบแม่เหล็กไฟฟ้าที่เสริมประสิทธิภาพและความเร็วในการปล่อยเครื่องบินจากเรือลำนี้

กองทัพเรือจีน เผยว่า เรือเสฉวนเป็นสิ่งที่ยกขีดความสามารถของปฏิบัติการพิสัยไกลและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านการทหารของกองทัพเรือจีน

ด้านนักวิเคราะห์รายอื่น ๆ เห็นว่ารัฐบาลปักกิ่งต้องการแสดงอำนาจทางทหารที่ยิ่งกว่าเกินขอบเขตของตน ผ่านการเปิดตัวเรือเสฉวน โดยดรูว์ ทอมป์สัน นักวิจัยจาก S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกกับวีโอเอว่า การเปิดตัวเรือเสฉวน มุ่งเป้า “ข่มขู่เพื่อนบ้านหรือเพื่อทำให้แน่ใจว่า PLA มีศักยภาพในการยกพลขึ้นบกในการส่งกำลังบุกรุกไต้หวัน”

ในภาวะการสงคราม นักวิเคราะห์มองว่าเรือเสฉวนจะผนึกกำลังกับฝูงบินรบของจีน อย่าง ซู ซู-หยุน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจาก National Defense and Security Research ในกรุงไทเป บอกกับวีโอเอทางโทรศัพท์ว่า “กองทัพจีนอาจใช้เรือเสฉวนในการปล่อยโดรนสำหรับการโจมตีระลอกแรก จากนั้นค่อยส่งเครื่องบินรบที่ใหญ่กว่าจากเรือลำนี้ต่อไป”

ด้านซ่ง จงปิง นักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านกองทัพจีน บอกกับวีโอเอว่า เรือเสฉวนอาจนำไปใช้ในทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก หรือในความขัดแย้งทางการทหารกับไต้หวันที่อาจเกิดขึ้นได้

ซ่งมองว่า “หาก[จีน]ใช้มาตรการทางการทหารกับไต้หวัน [ปักกิ่ง]จะใช้อาวุธทุกอย่างที่มีในมือ รวมถึงเรือยกพลขึ้นยก 075 และ 076”

นับตั้งแต่ปี 1947 จีนไม่เคยปกครองเข้าไต้หวัน แต่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ และประกาศจะนำไต้หวันมาอยู่ในการควบคุมของตน แม้ว่าจะต้องใช้กำลังก็ตาม

การอวดโฉมเรือเสฉวนได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของจีนในการขยายกองเรือของประเทศในช่วงไม่กี่ปีมานี้

คอลลิน โคห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลจาก S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นกับวีโอเอว่า “จีนผลิตเรือรบในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่อาจพูดได้ว่าเท่าเทียมกับการผลิตของสหรัฐฯ” เพราะในแง่ของปริมาณเรือนั้น กองทัพเรือจีนมีกองเรือมากกว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ อีกทั้งจีนยังแบ่งการดูแลในรูปแบบภาค (theater) แทนที่จะให้กองทัพเรือดูแลทั้งหมด

โคห์ อธิบายต่อว่า “กองทัพเรือจีนที่เติบโตขึ้น มีปฏิบัติการที่มุ่งเน้นในระดับภาค มีแนวโน้มที่จะมีความได้เปรียบเหนือกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ยังคงต้องดูแลรับผิดชอบในหลายภาคส่วนของโลกในคราวเดียว”

โฉมใหม่เครื่องบินล่องหนจีน

นอกเหนือจากการเปิดตัวเรือยกพลขึ้นบกจู่โจมลำใหม่ มีวิดีโอและภาพของเครื่องบินล่องหนของจีนออกมาบินกลางวันแสก ๆ เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

โดยในคลิปและภาพที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นเครื่องบินขับไล่ 2 ลำในลักษณะรูปสามเหลี่ยม ไร้หาง ซึ่งเหมือนกับเครื่องบินล่องหนทั่วไป โดยลำที่ใหญ่กว่ามีทางเข้าอากาศ 3 ช่องสำหรับเครื่องยนต์ และมีเครื่องบินขับไล่ J-20 ของจีนบินประกบ ส่วนเครื่องบินลำที่เล็กกว่ามีรูปแบบที่กระทัดรัดกว่า

รัฐบาลจีนยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเครื่องบินรบดังกล่าว แต่นักวิเคราะห์มองว่า ดีไซน์ที่ล้ำสมัยของเครื่องบินเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจีนไล่ตามทันสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกแล้ว

ซู กล่าวกับวีโอเอในเรื่องนี้ด้วยว่า “นอกเหนือจากความพยายามเป็นมหาอำนาจทางทะเลแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนเครื่องบินขับไล่ใหม่นี้แสดงให้เห็นว่าจีนต้องการแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจทางอากาศของโลกด้วย”

โดยในทัศนะของเขาเห็นว่า เนื่องจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกยังคงควบคุมชิปเซมิคอนดักเตอร์สำหรับเครื่องบินรบรุ่นใหม่ ๆ รัฐบาลกรุงวอชิงตันจำเป็นต้องคงมาตรการควบคุมการส่งออกชิปไปยังจีน เพื่อรักษาตำแหน่งในการขับเคี่ยวด้านเครื่องบินรบของโลก และว่า “การบังคับใช้มาตรการจำกัดการส่งออกจะกลายเป็นจุดควบคุมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่รัฐบาลวอชิงตันสามารถใช้ประโยชน์จากรัฐบาลปักกิ่งในการแข่งขันทางอาวุธระดับโลกได้”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG