รายงานล่าสุดโดยคณะอนุกรรมาธิการถาวรวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนระบุว่า ความพยายามของกระทรวงพาณิชยในการสกัดกั้นจีนและรัสเซียไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีชิปคอมพิวเตอร์ล้ำสมัยนั้น “ยังทำได้ไม่ดีพอ” และยังต้องการงบสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อขัดขวางไม่ให้ทั้งสองประเทศนี้รุดหน้าในการผลิตอาวุธทันสมัย
รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน สั่งดำเนินมาตรการควบคุมการส่งออกเพื่อจำกัดความสามารถของจีนและรัสเซียในการเข้าถึงชิปประมวลผลที่ผลิตในสหรัฐฯ หลังรัฐบาลมอสโกส่งทัพรุกรานยูเครนเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน
รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า สำนักอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security - BIS) ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะบังคับใช้กฎการควบคุมที่ว่า และพึ่งพาผู้ผลิตชิปในสหรัฐฯ ให้ยินยอมปฏิบัติตามกฎด้วยตนเองมากเกินไป
แต่การร้องของบและทรัพยากรเพิ่มเพื่อช่วยดำเนินแผนงานนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เล็งที่จะลดขนาดและความสามารถของรัฐบาลกลางอยู่
เอพีระบุว่า ได้ติดต่อทีมงานเปลี่ยนถ่ายของทรัมป์เพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับก่อนจัดพิมพ์รายงานข่าวนี้
ชาร์ลี แอนดรูว์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า งบประมาณของสำนัก BIS นั้นไม่เคยเพิ่มขึ้นและอยู่ที่ระดับราว 190 ล้านดอลลาร์มาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของสำนักฯ พยายามทำงานอย่างหนัก “เพื่อบรรลุเป้าหมายของภารกิจและปกป้องความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ”
เมื่อวันพุธ สว.ริชาร์ด บลูเมนธัล สังกัดพรรคเดโมแครตจากรัฐคอนเนคติกัตที่ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะอนุกรรมการถาวรวุฒิสภา ส่งจดหมายถึง จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหยิบยกประเด็นข่าวที่ว่า กองทัพรัสเซียยังคงได้รับชิ้นส่วนต่าง ๆ จากบริษัท Texas Instruments ผ่านบริษัทในฮ่องกงที่ทำธุรกิจบังหน้าให้ พร้อมชี้ว่า นี่คือตัวอย่างของการที่มาตรการควบคุมการส่งออกล้มเหลว
สว.บลูเมนธัล ยังเรียกร้องขอให้ “กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการต่าง ๆ ในทันทีและปราบปราบบริษัทที่ปล่อยให้ชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ทำในสหรัฐฯ หลุดไปช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้อาวุธรัสเซียและให้ความฮึกเหิมของจีน”
ขณะเดียวกัน Texas Instruments ระบุว่า บริษัทนั้นคัดค้านการใช้งานชิปของตนเพื่อผลิตอาวุธให้กับกองทัพรัสเซียรวมทั้งกรณีที่มีการแอบส่งผลิตภัณฑ์ของตนไปยังรัสเซียด้วย
แต่นี่ไม่ใช่บริษัทแห่งเดียวที่ประสบปัญหาแบบนี้ เพราะรายงานของคณะอนุกรรมาธิการเมื่อเดือนกันยายนก็พบว่า มีการส่งออกชิปจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ จำนวน 4 แห่งในปี 2022 ไปยังประเทศอาร์เมเนียและจอร์เจียรวมกันแล้วสูงขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2021
รายงานข่าวระบุว่า ทั้งสองประเทศนี้เป็นที่ตั้งของบริษัทหลายแห่งที่ทำธุรกิจบังหน้าเพื่อช่วยเหลือรัสเซียหาซื้อชิปล้ำสมัยที่ผลิตในสหรัฐฯ
ในกรณีของจีนนั้น รายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่า บริษัทหลายแห่งพบวิธีที่จะหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมการส่งออกได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและผู้ที่พูดภาษาจีนประจำอยู่ที่หน่วยควบคุมการส่งออก
รายงานนี้ยังชี้ด้วยว่า งบของกระทรวงพาณิชย์ไม่มากพอที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบบริษัทผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศหรือบริษัทผู้ซื้อชิปของสหรัฐฯ ว่า ส่งต่อไปให้ใครหรือไม่ โดยในเวลานี้ กระทรวงฯ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมการส่งออกตามจุดต่าง ๆ ของโลกอยู่เพียง 11 คนเท่านั้น
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น