ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เจ้าหน้าที่จีนพบระดับสารไซยาไนด์ในแหล่งน้ำใกล้จุดระเบิดที่เมืองเทียนจินสูงกว่าระดับปลอดภัยเกิน 350 เท่า


Engineers of Tianjin environmental monitoring center use a device to check the level of hydrogen cyanide present in the air at a monitoring station observing environmental pollution located within a 3-km (2-mile) exclusion zone from last week's explosion
Engineers of Tianjin environmental monitoring center use a device to check the level of hydrogen cyanide present in the air at a monitoring station observing environmental pollution located within a 3-km (2-mile) exclusion zone from last week's explosion

ประชาชนจีนต่างกังวลต่อความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อม หนึ่งสัปดาห์หลังเหตุการณ์ระเบิดที่โกดังเก็บสินค้าท่าเรือเมืองเทียนจิน

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:07 0:00
Direct link

นายเติ้ง เสี่ยวเหวิน ผอ.ศูนย์ควบคุมสิ่งแวดล้อมของจีน ระบุว่าในแหล่งน้ำบางแห่งใกล้จุดเกิดเหตุ มีระดับสารไซยาไนด์สูงกว่าระดับปลอดภัยเกิน 350 เท่า แต่ยืนยันว่าน้ำปนเปื้อนสารพิษนั้นยังไม่ไปปะปนกับแหล่งน้ำดื่มของเมืองเทียนจิน และทางการจะไม่ปล่อยน้ำปนเปื้อนออกไปจนกว่าจะแน่ใจว่าน้ำนั้นสะอาดปลอดภัยเพียงพอ

ผอ.ศูนย์ควบคุมสิ่งแวดล้อมของจีนบอกว่า จากการทดสอบแหล่งน้ำที่อยู่นอกบริเวณที่เกิดเหตุ พบว่ามีสารไซยาไนด์ปะปนอยู่บ้างในระดับที่ไม่เป็นอันตราย แต่ดูเหมือนคำประกาศดังกล่าวมิได้บรรเทาความหวาดกลัวของประชาชนแต่อย่างใด เมื่อมีภาพปลาตายตามแหล่งน้ำต่างๆ ถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์ ซึ่งนายเติ้ง เสี่ยวเหวิน รับปากว่าจะมีการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนว่าปลาเหล่านั้นตายเพราะสาเหตุใด

ด้านนายกเทศมนตรีเมืองเทียนจิน นายหวง ซิงกัว เปิดเผยว่าทางเทศบาลได้ร่างแผนย้ายโรงงานเคมีออกจากเขตปินไห่ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดระเบิด ไปยังเขตอุตฯ นานกัง ทางใต้ของท่าเรือเมืองเทียนจินแล้ว พร้อมระบุว่าเขตอุตฯปิโตรเคมีนานกัง เทียบได้กับเขตอุตสาหกรรมพิเศษเกาะจูร่งของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง

นอกจากนี้ นายหวง ซิงกัวยังระบุว่า คณะรัฐมนตรีจีนได้เสนอให้มีการปฏิรูปอุตสาหกรรมเคมีทั่วประเทศ ตลอดจนการปราบปรามบริษัทที่ละเมิดกฏหมายและข้อบังคับต่างๆ รวมถึงบริษัท Ruihai International Logistics ซึ่งเป็นเจ้าของโกดังที่เกิดเหตุด้วย

ด้านนายหลิว หยูฮัง ผู้บริหารสมาพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อของจีน ชี้ว่าการตั้งเขตอุตสาหกรรมพิเศษตามที่นายหวงเสนอนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศจีน เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการจัดตั้งเขตอุตฯ ลักษณะเดียวกันที่นครเซี่ยงไฮ้และเมืองนานกิงมาแล้ว ซึ่งการนำโรงงานเคมีภัณฑ์มารวมไว้ในสถานที่เดียวกันจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตามนายหลิวยังคงไม่มั่นใจในด้านของระบบรักษาความปลอดภัย เขาบอกว่าเมื่อเคมีภัณฑ์ต่างๆ อยู่ในบริเวณเดียวกัน การเกิดอุบัติเหตุขนาดเล็กก็อาจลุกลามกินวงกว้างอย่างคาดไม่ถึงได้ ดังนั้นทั้งฝ่ายรัฐบาลและเอกชนควรนั่งลงหารือเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้เขายังขอให้เจ้าหน้าที่จีน เพิ่มความใส่ใจในด้านการบังคับใช้กฏหมายและเร่งปราบปรามปัญหาคอรัปชั่นในทุกระดับมากขึ้น

ขณะเดียวกัน นายแจ็ค เชห์ ผู้บริหารสมาคมปิโตรเคมีของจีน ชี้ว่าประสบการณ์จากเกาะจูร่งของสิงคโปร์ชี้เห็นว่า การบริหารจัดการสารเคมีอันตรายอย่างเป็นมืออาชีพ คือกุญแจสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนที่ท่าเรือเมืองเทียนจิน

นายแจ็ค เชห์ ระบุว่า เกาะจูร่งของสิงคโปร์มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดไม่ต่างจากค่ายทหาร คนที่จะผ่านเข้าออกต้องถูกตรวจอย่างละเอียด

นอกจากนี้บนเกาะจูร่งยังมีสถานีดับเพลิงที่พร้อมสรรพทั้งในด้านอุปกรณ์และกำลังคน โดยจะมีการฝึกรับมืออัคคีภัยอยู่เป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย

(ผู้สื่อข่าว Joyce Huang รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG