รัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีนฉบับแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งระบุว่าจีนเป็น "คู่แข่งในทุกภาคส่วน" พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นที่เยอรมนีต้องลดการพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของเยอรมนีซึ่งถูกระบุไว้ในรายงาน 64 หน้าที่ชื่อว่า "จีนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว" เน้นย้ำความพยายามของเยอรมนีที่ใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในด้านการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน นอกจากนี้ยังพูดถึงการเพิ่มความร่วมมือทางทหารในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกซึ่งแสดงให้เห็นว่าเยอรมนียอมรับว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงในเอเชียกับผลประโยชน์ของเยอรมนี
เอียน ชง นักรัฐศาสตร์แห่ง เนชันแนล ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ สิงคโปร์ (National University of Singapore) กล่าวว่า "ยุทธศาสตร์ใหม่นี้สะท้อนถึงสิ่งที่เยอรมนีคิดหลังเกิดสงครามในยูเครน" และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเยอรมันเรียนรู้แล้วว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องช่วยรักษาความสัมพันธ์อย่างสันติกับบางประเทศได้เสมอไป
ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมือง
ในส่วนของยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีน รายงานซึ่งเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ รวมความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกไว้ในกระบวนการตัดสินใจด้านนโยบาย พร้อมเตือนว่า บริษัทที่พึ่งพาตลาดจีนจะต้อง "แบกรับความเสี่ยงทางการเงินอย่างมหาศาลในอนาคต"
รัฐบาลกรุงเบอร์ลิน ต้องการรับรองว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนจะมีความยุติธรรมมากขึ้น ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อกันมากกว่าเดิม นอกจากนี้ เยอรมนียังต้องการปรับมาตรการควบคุมการส่งออกให้ปกป้องเทคโนโลยีสำคัญใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้นด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แอนนาเลนา แบร์บอคก์ แถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี เน้นย้ำว่าในขณะที่เยอรมนีจำเป็นต้องสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่มีแผนสกัดกั้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนหรือของเยอรมนีเอง
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน มีแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า การที่เยอรมนีพยายามลดการพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจ คือรูปแบบหนึ่งของนโยบายปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งจะก่อผลเสียมากกว่าผลดี พร้อมยืนยันว่าสองประเทศนี้ "เป็นหุ้นส่วนกันมากกว่าเป็นศัตรู"
จาก 'ทรานส์-แอตแลนติก' สู่ 'อินโด-แปซิฟิก'
นอกจากประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนแล้ว ยุทธศาสตร์ใหม่ของเยอรมนียังเน้นย้ำถึงผลกระทบของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียที่มีต่อเยอรมนี หลังเกิดสงครามยูเครน โดยระบุว่า การที่จีนเพิ่มสัมพันธ์กับรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นส่งผลโดยตรงต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของเยอรมนี
หนึ่งในยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
รายงานชี้ว่า เยอรมนีจะขยายนโยบายด้านความมั่นคงและความร่วมมือทางทหารกับหุ้นส่วนใกล้ชิดในแถบอินโด-แปซิฟิก ซึ่งแสดงถึงความยึดมั่นของเยอรมนีต่อการปกป้องรักษากฎระเบียบระหว่างประเทศ
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เยอรมนีเริ่มเพิ่มความร่วมมือทางทหารในแถบอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น เช่น เมื่อปี 2021 เยอรมนีส่งเรือรบไปยังทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี และเมื่อปีที่แล้ว เครื่องบินทหารเยอรมนี 13 ลำเข้าร่วมการซ้อมรบในออสเตรเลีย
เมื่อต้นเดือนนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เยอรมนีจะส่งทหารเข้าร่วมในการซ้อมรบที่ออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยผู้บัญชาการทหารบกเยอรมนีกล่าวว่า "ภูมิภาคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเยอรมนีและสหภาพยุโรป สืบเนื่องจากการพึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจ"
เอียน ชง แห่ง National University of Singapore ชี้ว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า เยอรมนีมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงในเอเชียกับผลประโยชน์ของเยอรมนี จึงพยายามแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้
รายงานยุทธศาสตร์ของเยอรมนีฉบับใหม่ยังกล่าวถึงช่องแคบไต้หวัน โดยชี้ว่า "ความมั่นคงบริเวณช่องแคบไต้หวัน มีส่วนสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพของแถบอินโด-แปซิฟิก และเยอรมนีกำลังทำงานเพื่อช่วยลดความตึงเครียดในบริเวณนี้
ซารี อาร์โฮ แฮฟเรน นักวิชาการแห่งสถาบัน Royal United Services Institute กล่าวกับวีโอเอว่า เยอรมนีต้องพึ่งพาการค้าและห่วงโซ่อุปทานของจีนอย่างมาก ดังนั้นหากเกิดความตึงเครียดทางทหารในแถบช่องแคบไต้หวัน ก็จะสร้างความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การขยายความร่วมมือของนาโต้
นอกจากเยอรมนีแล้ว ทางด้านองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ กำลังหารือกันเรื่องการเพิ่มความร่วมมือทางทหารในแถบเอเชียแปซิฟิกเช่นกัน
ช่วงไม่กี่เดือนมานี้ มีการพูดถึงแนวคิดการเปิดสำนักงานของนาโต้ในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการเชิญบรรดาผู้นำของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของนาโต้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาลปักกิ่งไม่น้อย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้แทนของจีนประจำสหภาพยุโรปแสดงท่าทีต่อต้านการขยายกิจกรรมทางทหารของนาโต้สู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งทางทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การนาโต้ จูเลียน สมิธ กล่าวว่า "นาโต้ไม่มีแผนรับสมัครสมาชิกจากแถบอินโด-แปซิฟิก แต่อย่างใด" แต่สิ่งที่นาโต้กำลังทำ คือการทำลายอุปสรรคระหว่างพันธมิตรของนาโต้ในแถบแอตแลนติกและแถบแปซิฟิก เพื่อให้สามารถมุ่งเป้าไปที่ความท้าทายร่วมกันได้มากขึ้น
นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า ประเทศสมาชิกนาโต้บางประเทศตัดสินใจเพิ่มความร่วมมือกับ 4 ประเทศในแถบอินโด-แปซิฟิก ที่กลายมาเป็นขาประจำในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดขององค์การนาโต้
นอกจากนี้ บรรดาชาติต่าง ๆ ในแถบอินโด-แปซิฟิก ก็สามารถได้ประโยชน์จากการเพิ่มกิจกรรมทางทหารของเยอรมนีและนาโต้ในบริเวณนี้เช่นกัน เนื่องจากจะเพิ่มทางเลือกด้านการทหารในการรับมือการแข่งขันที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และช่วยคานการกระทำที่สุ่มเสี่ยงของจีนในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย
- ที่มา: วีโอเอ