ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สี จิ้นผิง ระบุ ‘คอร์รัปชัน’ คือ ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน


แฟ้มภาพ - ภาพที่สื่อซินหัวเผยแพร่ออกมาเมื่อ 18 ก.ค. 2567 แสดงให้เห็นปธน.สี จิ้นผิง ขณะขึ้นพูดที่งานประชุมใหญ่ คณะกรรมาธิการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในกรุงปักกิ่ง
แฟ้มภาพ - ภาพที่สื่อซินหัวเผยแพร่ออกมาเมื่อ 18 ก.ค. 2567 แสดงให้เห็นปธน.สี จิ้นผิง ขณะขึ้นพูดที่งานประชุมใหญ่ คณะกรรมาธิการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในกรุงปักกิ่ง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในวันจันทร์ว่า การทุจริตคอร์รัปชันคือภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน อันเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาที่หยั่งรากลึกมานานนี้ไปทั่วทุกหัวระแหงของสังคมจีนให้ได้

ในช่วงปีที่ผ่านมา จีนเผชิญสถานการณ์ใหญ่อีกครั้งเพราะการยกระดับการสืบสวนกรณีคอร์รัปชันต่อบรรดาผู้มีอำนาจและชื่อเสียงที่มีตั้งแต่ผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการแบงค์ชาติไปจนถึงอดีตประธานบริษัทน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจระส่ำหนักกว่าเดิม

ปธน.สีระบุระหว่างเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของ Central Commission for Discipline Inspection (CCDI) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลปัญหาการทุจริตในประเทศว่า ปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้แต่กระจายไปทั่วจีนเท่านั้น แต่ยังขยายเพิ่มตัวเพิ่มขึ้นไปด้วย

CCDI เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เมื่อปีที่แล้ว ทางหน่วยงานทำการสอบสวนประวัติของเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลมากถึง 58 คนซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย 47 คนนั้นมีตำแหน่งในระดับรองรัฐมนตรีหรือสูงกว่านั้น

แอนดรูว์ วีดแมน ศาสตราจารย์จาก Georgia State University ให้ความเห็นว่า การปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลจีนน่าจะดำเนินต่อไป เพราะมองไม่เห็นเหตุผลที่ปธน.สีจะถอยในเรื่องนี้เลย

วีดแมนกล่าวด้วยว่า ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แม้ผู้นำจีนพยายามกวาดล้างเจ้าหน้าที่อาวุโสที่ฉ้อฉลมาตลอด ก็ยังพบกรณีการทุจริตมากมายในกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งพรรคคอมมิวนิสต์และของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People's Liberation Army - PLA)

นักวิชาการรายนี้กล่าวเสริมด้วยว่า ดูเหมือนว่า กลุ่มคนที่ปธน.สีกำลังดึงมาแทนที่พวกหน้าเก่า ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่คอร์รัปชันปนอยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กระบวนการคัดกรองภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอ หรือไม่ตัวกระบวนการนี้เองก็มีการทุจริตกันเองด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลปักกิ่งเองออกมายอมรับว่า การพยายามต่อสู้กับเหตุคอร์รัปชันนั้นคือความท้าทายครั้งใหม่ โดยวิธีการทุจริตแบบเก่า ๆ เช่นการรับเงินใต้โต๊ะกำลังกลับมาเป็นวิธีการที่มีการใช้งานกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

รอยเตอร์ยกตัวอย่างรายงานข่าวของสื่อรัฐบาลจีนในกรณีของ ฟาน ยี่เฟย อดีตรองผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ ที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตแต่ได้รับการเว้นโทษ 2 ปี และให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อครั้งมีนักธุรกิจเสนอเงินสดให้ เขาปฏิเสธไป แต่ถ้าเป็นการมอบหุ้นหรือสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่ได้มอบให้โดยตรงแต่ให้กับสมาชิกในครอบครัว “นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

รายงานข่าวพิเศษของสถานีโทรทัศน์รัฐบาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาระบุว่า กรุงปักกิ่งจะเดินหน้ากำจัดการคอร์รัปชันต่อไปไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็น “แมลงวัน” หรือ “มด” ตัวเล็กตัวจ้อยในระบบราชการอันใหญ่โตของประเทศ

รายงานดังกล่าวที่มีชื่อว่า Fighting Corruption for the People และมีทั้งหมด 4 ตอน ออกอากาศตอนแรกในวันอาทิตย์ โดยเน้นเรื่องปัญหาคอร์รัปชันในระดับรากหญ้า เช่น ประเด็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมรับสินบนในการจัดหาอาหารกลางวัน หรือ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในพื้นที่ห่างไกลรับสินบนจากผู้รับเหมาในโครงการเกษตร เป็นต้น

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG