การพัฒนาที่ว่านี้กำหนดไว้ให้กับอุตสาหกรรม 10 ประเภท ซึ่งรวมทั้งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร พาหนะใช้พลังงานใหม่ หุ่นยนต์ และเรือ hi-tech
Klaus Meyer ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสำหรับการศึกษาเศรษฐกิจเกิดใหม่ของคณะพาณิชยศาสตร์จีน-ยุโรปในเซี่ยงไฮ้ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนดังกล่าวว่า เป็นความพยายามของจีนที่จะก้าวให้ทันประเทศอุตสาหกรรม พร้อมๆ กับการปิดช่องว่างทางเศรษฐกิจในประเทศ เพราะแรงงานหนุ่มสาวของจีนมีจำนวนน้อยลง ทำให้อัตราค่าแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกที่เคยเป็นหลักสำคัญ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
แผน “Made in China 2015” จะแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพและ brand name ของสินค้าจีน รวมทั้งปรับปรุงการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
Raymond Yeung นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ANZ ในฮ่องกง ให้ความเห็นว่า รัฐบาลจีนจะต้องเปิดตลาดรับสินค้าต่างประเทศ ในขณะที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้าไปมีบทบาทมากขึ้น ที่สำคัญคือการปรับลดกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ซึ่งแผนฉบับนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดไว้
ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ Hu Xingdou ของ Beijing Institute of Technology ให้ความเห็นว่า ในขณะที่ “Made in China 2025” วางเค้าโครงกว้างๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไว้ดี แต่ให้ความสนใจน้อยมากกับภาคเอกชน
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวว่า การส่งเสริมการประกอบการ และการพัฒนาสปิริตของการประกอบการ เป็นกุญแจสำคัญ เพราะผู้ประกอบการและธุรกิจเอกชนนำไปสู่นวัตกรรม
“Made in China 2025” เป็นเพียงขั้นตอนแรกของแผนที่มี 3 ขั้นตอนด้วยกัน จีนตั้งเป้าไว้ว่าจะก้าวขึ้นมาเทียมบ่าเทียมไหล่กับประเทศอุตสาหกรรมของโลกให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2049