จีนสามารถระดมสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียหรือ AIIB ได้ถึง 57 ประเทศในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน ยกเว้นแต่สหรัฐฯและญี่ปุ่นที่ปฏิเสธไม่เข้าร่วม เพราะยังกังวลต่อความโปร่งใสและความสามารถของธนาคาร AIIB ในการรักษามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน
ปัจจุบันเอเชียมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าปีละ 800,000 ล้านดอลล่าร์ โดย AIIB จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ ทางด่วน หรือโครงการด้านพลังงาน
ความท้าทายสำคัญของจีนนอกจากเรื่องการจัดหาเงินทุนให้กับโครงการเหล่านั้นแล้ว ยังรวมถึงการแบ่งปันภาระหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับสมาชิกทั้ง 57 ประเทศอย่างเท่าเทียม เพราะทุกประเทศต่างต้องการมีส่วนร่วมในธนาคารแห่งใหม่นี้ให้เหมาะสมกับเงินที่ลงทุนไป
ศาสตราจารย์ Barry Naughton ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จาก University of California at San Diego เชื่อว่าจีนเองก็ต้องการรักษาสัดส่วนของจีนในธนาคารแห่งใหม่ ในระดับที่สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายต่างๆได้ คืออย่างน้อยประมาณ 25 - 30%
ก่อนหน้านี้จีนยืนยันว่าจะไม่มีประเทศใดมีอำนาจวีโต้ในธนาคารแห่งใหม่ และว่าผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกในเอเชียต้องมาก่อน เพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการต่างๆที่ธนาคารเป็นผู้ให้เงินทุน โดยสื่อของทางการจีนระบุว่าประเทศในเอเชียถือสัดส่วนเงินลงทุนเริ่มต้นมูลค่า 100,000 ล้านดอลล่าร์ถึง 75%
ด้านนาย Jin Liqun เลขาธิการใหญ่ธนาคาร AIIB กล่าวว่าการที่จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดใน AIIB มิได้หมายความว่าจีนมีอำนาจพิเศษเหนือสมาชิกรายอื่น แต่จีนจะปฏิบัติตามกฏเกณฑ์สากลอย่างเคร่งครัด และจะไม่ทำตัวเป็นหัวหน้าใหญ่
ขณะเดียวกันจีนยืนยันว่าธนาคาร AIIB จะไม่ใช่คู่แข่งของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ดังที่สหรัฐฯและญี่ปุ่นกังวล และพร้อมยินดีต้อนรับทั้งสองประเทศนี้เข้าเป็นสมาชิกได้ตลอดเวลา
ศาสตราจารย์ Barry Naughton เชื่อว่าจีนต้องการให้ทั่วโลกเห็นว่า ธนาคาร AIIB คือส่วนที่เติมเต็มปัญหาขาดแคลนโครงส้รางพื้นฐานทางศก. แต่ก็ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการขยายอิทธิพลด้วยอำนาจนุ่มหรือ Soft Power ของจีนเช่นกัน
ด้านอาจารย์ Jia Qingguo จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เชื่อว่าแม้จีนจะมีทั้งเงินทุนและประสบการณ์ลงทุนในหลายประเทศ แต่จีนยังต้องเรียนรู้อีกมากในด้านการบริหารสถาบันการเงินระดับโลก ทั้งในด้านการรับรองคุณภาพของโครงการที่ให้กู้ และยังต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิก 57 ประเทศ ที่ต่างต้องการผลประโยชน์จากธนาคารแห่งใหม่นี้ไม่แพ้กัน
รายงานจากห้องข่าววีโอเอ / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล