ทางการจีนประกาศว่าจะสร้างงานเพิ่มอีก 50 ล้านตำเเหน่งในเขตเมืองใหญ่ภายใน ค.ศ. 2020 และจะควบคุมให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์
แผนการสร้างงานจำนวนมหาศาลของจีน สร้างความกังขาเเก่นักวิเคราะห์หลายคนที่บอกว่า การสร้างงานปีละ 10 ล้านตำเเหน่งสำหรับจีน เป็นเรื่องไม่ยาก แต่การสร้างงานที่ดี เพิ่มรายได้ที่น่าพอใจในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นงานที่ท้าทาย
ส่วนการลดอัตราการว่างงานลง นักวิเคราะห์บอกว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะคาดว่าคนงานในเหมืองถ่านหินและอุตสาหกรรมเหล็กของจีนหลายล้านคนจะถูกปลดจากงานในช่วงหลายปีต่อจากนี้
Mark Williams นักเศรษฐศาสตร์เอเชียแห่ง Capital Economics ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ตัวเลขเป้าหมายของจีนสมเหตุสมผล หากดูจากตัวเลขตำเเหน่งงาน 64 ล้านตำเเหน่งที่จีนสร้างขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และตำเเหน่งงานใหม่ๆ น่าจะมาจากความต้องการแรงงานภาคบริการภายในประเทศ เนื่องจากจีนค่อยๆ ผันตัวจากภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมไปยังภาคบริการและภาคไฮเทค
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวเสริมอีกว่า ในกรณีของจีน การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งสำคัญนี้น่าจะเกิดขึ้นภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นจะเริ่มเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่ช้าลง เเต่จะไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภาคการบริการซึ่งจะมีตำเเหน่งงานเพิ่มขึ้น
แต่ Keegan Elmer นักวิจัยด้านเเรงงานเเห่งกลุ่มเเรงงาน China Labor Bulletin ที่มีสำนักงานในฮ่องกง เเสดงความกังวลเกี่ยวกับโอกาสด้านการงานในเศรษฐกิจใหม่ของจีน หลังจากผลการศึกษาล่าสุดของกลุ่มที่เรียกว่า Strike Map ชี้ว่าการประท้วงของเเรงงานกำลังขยายวงกว้างออกไป จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่ภาคบริการด้านการขนส่งสินค้า
ทางกลุ่ม China Labor Bulletin ระบุว่า การประท้วงในภาคการขนส่งนับเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของการประท้วงของแรงงานจีนในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีที่เเล้ว
โดยรวมทั้งหมดเเล้ว การประท้วงของเเรงงานในภาคการบริการถือว่าเลวร้ายที่สุดเป็นอันดับที่สาม ตามหลังภาคการก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาเดียวกัน
Elmer นักวิจัยเเห่งกลุ่มเเรงงาน China Labor Bulletin ยังกล่าวอีกว่า การประท้วงของเเรงงานในจีนนี้เป็นสัญญาณที่สร้างความกังวล เพราะแสดงว่าเเรงงานในเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะยังไม่ได้รับสิทธิ์และความมั่นคงทางการงาน หากปัญหาเดิมๆ เกี่ยวกับเเรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเเบบดั้งเดิมในจีนยังไม่ได้รับการเเก้ไข
ผลการสำรวจทางธุรกิจในเมืองเซี่ยงไฮ้ชี้ว่า บริษัทผู้ว่าจ้างงานในจีนไม่ยอมว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสนี้เนื่องจากความไม่เเน่นอนที่เกิดจากการตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ และผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่ทำให้นายโดนัดล์ ทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่
หลังจากเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 6.7 เปอร์เซ็นเมื่อปีที่เเล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี การคงจำนวนตำเเหน่งงานเก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยที่จบใหม่ยังเป็นงานที่ยาก โดยเฉพาะเมื่อจีนมีจำนวนนักศึกษาที่เรียนจบใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนจะทำลายสถิติที่ 8 ล้านคนในปีนี้
Williams นักเศรษฐศาสตร์เเห่ง Capital Economics ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า บัณฑิตที่จบใหม่เหล่านี้ไม่พอใจในคุณภาพของงานและระดับเงินเดือนที่ได้รับ ทำให้รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตไม่ดีพออย่างที่คาดหวัง
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า การเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นตามความคาดหวังของเเรงงานจำนวนมากเป็นงานที่ยาก เเต่สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เศรษฐกิจจีนเริ่มกลายเป็นเศรษฐกิจที่ปกติทั่วไปมากขึ้น และนี่อาจช่วยอธิบายว่าทำไมจึงมีบัณฑิตจบใหม่ลงทะเบียนเข้าสอบเรียนต่อในระดับปริญญาโทภาคการศึกษาปี 2016 มากเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ล้านคนในเดือนธันวาคม เนื่องจากบัณฑิตเหล่านี้หวังว่าการศึกษาที่สูงขึ้นจะช่วยให้ได้งานที่ดีกว่า
สื่อมวลชนจีนต่างประมาณว่า อัตราการว่างงานในกลุ่มบัณฑิตมหาวิทยาลัยที่เพิ่งจบใหม่มีหลายระดับ ตั้งเเต่ 4 เปอร์เซ็นต์จนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เเม้ว่าตัวเลขสถิติโดยทางการจีนมักไม่ได้รับความน่าเชื่อถือนัก บรรดาเจ้าหน้าที่ทางการจีนกล่าวอ้างว่าอัตราการว่างงานโดยรวมยังอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์มานานหลายปีแล้วและยังต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าที่ทางการจีนต้องการควบคุมไม่ให้สูงกว่านั้น
ช่องว่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทานต่อเเรงงานที่มีความสามารถ ได้สร้างเเรงกดดันเเก่ตลาดงาน ในขณะที่การปรับปรุงโครงสร้างทางอุตสาหกรรมจะยิ่งสร้างความกังวลมากขึ้นว่าคนจะตกงานเพิ่มขึ้นในปีนี้
Elmer นักกิจกรรมเเรงงานในฮ่องกง กล่าวว่า จำนวนคนตกงานในจีนน่าจะสูงกว่าที่คาดเอาไว้ เขาชี้ว่าคนงานในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและผลิตเหล็กจำนวน 1 ล้าน 8 แสนคนที่จะถูกปลดจากงาน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะได้รับผลกระทบด้วย
เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ทางการจีนได้จัดสรรเงินกองทุนเอาไว้หนึ่งเเสนล้านหยวน หรือราว 14,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือคนงานที่ถูกปลดออกจากงานจากอุตสาหกรรมเหมืองและเหล็ก นอกเหนือจากแผนงานส่งเสริมการว่าจ้างงานแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเเละเเรงงานจากต่างเมือง
(รายงานโดย Joyce Huang / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)