ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ เตือน จีนใกล้ชิดอิหร่านเกินไปอาจสะเทือนเสถียรภาพตะวันออกกลาง


Iran Kyrgyzstan Summit
Iran Kyrgyzstan Summit
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:39 0:00


เมื่อเร็วๆ นี้ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่งออกปากเตือนจีนอีกครั้งว่า การที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งเข้าใกล้ชิดกรุงเตหะรานมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหากับเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลทั้งสองอาจจะยกระดับข้อตกลงต่างๆ ที่ยิ่งอาจทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนแย่ลงไปอีกได้

รมต.พอมเพโอ ระบุในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าว ฟ็อกซ์ นิวส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ความใกล้ชิดระหว่างจีนและอิหร่าน จะทำให้สถานการณ์ในอิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงมากขึ้น พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสามประเทศรวมทั้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้คอยระวังการเคลื่อนไหวของจีน ซึ่งเป็นคู่ปรับคนสำคัญรายหนึ่งของกรุงวอชิงตันในเวลานี้

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังยืนยันด้วยว่า ขณะที่อิหร่านนั้นเป็นประเทศแถวหน้าที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอย่างเต็มที่ การที่รัฐบาลกรุงเตหะรานจะสามารถเข้าถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ มีโอกาสทางการค้า และได้หมุนเงินผ่านพรรคคอมมิวนิสต์จีนยิ่งจะทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางสูงขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลอิหร่าน ซึ่งออกมาโทษกลุ่มมุสลิมติดอาวุธว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายโจมตีในภูมิภาคนี้มาหลายทศวรรษ ปฏิเสธว่า ได้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว และยืนยัน ตนเป็นเหยื่อของเหตุก่อการร้ายต่างๆ เช่นกัน

รายงานข่าวที่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงของสหรัฐฯ ระบุว่า จีนและอิหร่านกำลังจะได้ข้อสรุปข้อตกลงการค้าและการทหารที่จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 25 ปี และที่เรียกว่าเป็นความตกลง “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบเบ็ดเสร็จ” หรือ Comprehensive Strategic Partnership โดยข้อตกลงนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อมี ค.ศ. 2016 และถือเป็นข้อตกลงระดับทวิภาคีสูงที่สุดเท่าที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งเคยทำกับหุ้นส่วนใดๆ มาเลย

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่านเปิดเผยว่า การประชุมถกประเด็นข้อตกลงนี้ยังเดินหน้าอยู่ แต่ไม่ได้ประเมินว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อใด ขณะที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งไม่ได้ออกมาให้รายละเอียดในเรื่องนี้แต่อย่างใด

เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ที่จีนและอิหร่านมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการทหาร โดยจีนนั้นถือเป็นคู่ค้าคนสำคัญของอิหร่าน ทั้งยังเป็นผู้จัดหาอาวุธต่างๆ ให้มาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ด้วย

และแม้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีมติสั่งห้ามนานาชาติขายอาวุธให้กับอิหร่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 คำสั่งนี้กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 18 ตุลาคม และจีนได้ส่งสัญญาณที่จะใช้สิทธิ์ยังยั้ง หรือ วีโต้ ร่างมติใหม่ที่จะยืดอายุคำสั่งนี้แล้ว

นอกจากนั้น จีนยังเพิ่งเข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเล 3 ฝ่าย กับอิหร่านและรัสเซียเมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้วด้วย

นักวิเคราะห์บางราย กล่าวว่า กรุงปักกิ่งมีความสนใจในการสร้างความสัมพันธ์กับอิหร่านมากขึ้นเพื่อขายอาวุธให้ และเตรียมอัดฉีดเงินหลายแสนล้านดอลลาร์เข้าไปในเศรษฐกิจของอิหร่านเพื่อแลกกับส่วนลดในการซื้อน้ำมันและข้อแลกเปลี่ยนอื่นๆ หลังอิหร่านประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2018 เพราะสหรัฐฯ ยกระดับการคว่ำบาตร ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศ ยกเว้นจีน ยกเลิกการซื้อน้ำมันจากอิหร่านไป

ไมเคิล โดแรน และ ปีเตอร์ รัฟ จากสถาบัน Hudson Institute ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน เขียนบทความที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ Tablet เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า กลยุทธ์การเข้าหาอิหร่านของจีนจะส่งผลให้ความพยายามของสหรัฐฯ ในการลดบทบาทในตะวันออกกลางเสียเปล่าไปได้ และจะทำให้ชื่อเสียงของอเมริกาด่างพร้อย ด้วยการช่วยให้อิหร่านหาพันธมิตรร่วมใหม่ มาต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ขณะที่จำกัดความสามารถของกองทัพเรือสหรัฐฯ ให้อยู่แต่ในอ่าวเปอร์เซียเพื่อจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นภัยของอิหร่าน แทนที่จะแบ่งกำลังไปดูแลสถานการณ์ในแถบทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกที่จีนกำลังรุกคืบเพื่อยึดครองอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น การเคลื่อนไหวของจีนครั้งนี้ อาจทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ร่วมต่อต้านโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านและความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ สงสัยในจุดยืนของสหรัฐฯ และเปลี่ยนใจหันไปหาจีนได้

ขณะเดียวกัน กาย เบอร์ตัน ศาสตราจารย์ด้านกิจการระหว่างประเทศที่ Vesalius College ประเทศเบลเยียม บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ประจำภูมิภาคเปอร์เซีย ว่า การที่สหรัฐฯ ส่งกองทัพเข้าไปในอิรัก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ทำให้สถานการณ์ในแถบนั้นสงบมากพอที่จีนจะถือโอกาสเข้าไปทำสัญญาข้อตกลงต่างๆ ในอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สของอิรัก แต่ความสงบที่ว่านี้อาจต้องยุติลงหากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมนิกายชีอะห์ในอิรัก ที่อิหร่านสนับสนุนอยู่ยกระดับโจมตีกองทัพสหรัฐฯ ที่นั่น

ส่วน ฮาวเวิร์ด แชทส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่ง Rand Corporation ในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า จีนอาจไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้อิหร่านยอมรับความเป็นหุ้นส่วนระดับสูงที่ว่านี้ได้ เพราะประชากรอิหร่านไม่ใช่คนที่เปิดรับการที่จีนจะเข้ามามีบทบาทในกิจการของประเทศตนมากมาย เพราะยังมีผู้ที่กลัวว่าจีนจะเข้ามาจำกัดบทบาทของอิหร่านในภูมิภาคอยู่

นักวิเคราะห์หลายรายยังเชื่อว่า การที่จีนยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่าง ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล ทำให้ความพยายามที่จะสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย

ท้ายสุด โรเบิร์ต โมกีลนิคกี นักวิเคราะห์ประจำสถาบัน Arab Gulf States Institute ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า เมื่อเทียบดูแล้ว ความสัมพันธ์ของจีนกับ 3 ประเทศที่ว่านั้นเป็น “เดิมพันที่ปลอดภัยกว่า” มากกว่าการมุ่งเข้าหาอิหร่าน ในมุมมองของประเทศจีน

XS
SM
MD
LG